Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ประวัติความเป็นมา

  • การจัดตั้งองค์กรหลัง พ.ศ. 2475
  • กองกรรมกร พ.ศ. 2495-2498
  • แผนกจัดหางาน พ.ศ. 2476
  • กองแรงงาน พ.ศ. 2498
  • กองกรรมกร พ.ศ. 2478
  • กองแรงงาน พ.ศ. 2498-2505
  • แผนกกรรมกร พ.ศ. 2481
  • ส่วนแรงงาน พ.ศ.2505
  • กองกรรมกร พ.ศ. 2492
  • สถาปนากรมแรงงาน พ.ศ.  2508

 

การจัดตั้งองค์กรหลัง พ.ศ. 2475

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 รัฐบาลสมัยนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นในอนาคต ที่เกิดขึ้นในอนาคตจึงได้ดำเนินนโยบายของชาติไว้อย่างแน่ชัดประกอบกับในระยะนั้นเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และประเทศไทย ได้รับผลกระทบกระเทือนด้วย ประชาชนจึงว่างงานกันมาก หน่วยงานของรัฐบาล ที่ปฎิบัติงานบริหารแรงงาน ได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นกิจลักษณะเป็นครั้งแรก คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้กำหนดนโยบายหลัก 6 ประการ ประการหนึ่งระบุว่า “จะต้องบำรุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจและหางานให้ราษฎรทุกคนทำ” เพื่อให้บรรลุนโยบายตามที่ระบุไว้นี้ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักจัดหางาน พ.ศ. 2475 ขึ้นบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2475พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สิทธิแก่เอกชนที่จะประกอบอาชีพในทางจัดตั้งสำนักงานรับจัดหางานให้แก่ประชาชนได้ โดยดำเนินงานและบริการเรียกค่าบริการจากประชาชน ผู้มาใช้บริการภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 รัฐบาลก็ได้ตรา พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ.2475 ขึ้นบังคับใช้ พระราชบัญญัติ ฉบับนี้กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานกลางจัดหางาน ขึ้นในจังหวัดพระนคร และธนบุรี ทำหน้าที่จัดหางานให้แก่ประชาชนโดยไม่คิด

แผนกจัดหางาน พ.ศ. 2476

เพื่อให้มีการควบคุมการดำเนินงานจัดหางานของเอกชน และให้การดำเนินงานจัดหางาน ของสำนักงานกลางจัดหางานเป็นไปโดยเรียบร้อย และไม่เกิดความเสียหายแก่ประชาชนขึ้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกรมในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2476 ขึ้นบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2476 พระราชกฤษฎีกา ฉบับนี้ ได้จัดตั้งแผนกจัดหางานขึ้นในกองทะเบียนกรมปลัดในปีเดียวกันนี้ รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่างานจัดหางาน เป็นงานที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับกิจการด้านเศรษฐกิจ มากกว่างานกิจการทะเบียน จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาโอนแผนกจัดหางานในกระทรวงมหาดไทย มาขึ้นกระทรวงเศรษฐการ พ.ศ. 2476 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แผนกจัดหางานก็ขึ้นอยู่กับกองสถิติพยากรณ์ กรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ

กองกรรมกร พ.ศ. 2478

แผนกจัดหางานได้ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักจัดหางาน พ.ศ. 2475 และ พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางาน ประจำท้องถิ่น พ.ศ. 2475 อย่างได้ผล ทำให้มีสำนักงานจัดหางานตั้งขึ้นในหลายๆ อำเภอเกือบทั่วราชอาณาจักร และสามารถหางานให้คนว่างงานทำได้เป็นจำนวนไม่น้อย ในปี พ.ศ. 2478 รัฐบาลจึงเห็นความสำคัญของงานด้านนี้มากขึ้นจึงได้พิจารณาปรับปรุงงาน ของแผนจัดหางาน และยกฐานะเป็นกองมีชื่อใหม่ว่ากองกรรมกร สังกัดกรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ มี ร.ท.ณ เณร ตาละลักษณ์ หัวหน้าแผนกจัดหางานเดิมเป็น หัวหน้ากองกรรมกรคนแรก และได้แบ่งงานในกองกรรมกออกเป็น 3 แผนกคือแผนกทะเบียนแผนก หางาน และแผนกบรรเทาทุกข์

ในปี พ.ศ. 2479 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสอบสวนภาวะกรรมกร พ.ศ. 2479 หลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติกอง กรรมกร ก็มีงานเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก คือ การศึกษาตรวจตราดูแลสภาพการทำงานของกรรมกรอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดแรกการ กำเนิดงาน “สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน”ก็ว่าได้นอกจากนั้นการช่วยเหลือผู้ใช้ไร้แรงงาน ให้มีที่ทำกินเป็นของตนเอง โดยเอกเทศ โดยวิธีการจัดให้เข้าไปอยู่ในนิคมกสิกรบ่อแก้ว อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์

แผนกกรรมกร พ.ศ. 2481

ใน ปี พ.ศ. 2481 ปัญหาการว่างงานลดน้อยลง ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น งานของกองกรรมกรลดน้อยลง รัฐบาลจึงได้พิจารณายุบกองกรรมกรลง เป็นแผนกกรรมกร สังกัดกองสถิติพยากรณ์ กรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ มีหลวงถนัดพจนามาตย์เป็น หัวหน้าแผนกจนถึงปี 2483 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชสำนักงาน และกรมในสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่10) พ.ศ. 2483 ตั้งกองอาชีพสงเคราะห์ ขึ้น ในกรมประชาสงเคราะห์ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แบ่งงานเป็น 3 แผนก คือ แผนก กลาง แผนกส่งเสริมอาชีพ และ แผนก อนาถาสงเคราะห์ ในปี 2484 รัฐบาลได้ออก พระราชบัญญัติโอนอำนาจ และหน้าที่เกี่ยวกับกรรมกร พ.ศ. 2484 มาบังคับใช้ โดยโอนอำนาจหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรรมกรทั้งหมด ไปเป็นของอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ดังนั้นนับตั้งแต่ปี 2484 เป็นต้น แผนกกรรมกรกองสถิติพยากรณ์ กรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ ก็โอนไปสังกัดอยู่ในกองอาชีพสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย มีนายสุขุม มกราภิรมย์เป็นหัวหน้ากอง และหลวงถนัดพจนามาตย์ เป็นหัวหน้าแผนกกรรมกร โดยปฎิบัติงานเหมือนเดิม ในปีพ.ศ.2485 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรประชาสงเคราะห์ในกระทรวงสาธารณสุข ขึ้น 2 ฉบับ ฉบับแรก ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2485 โอนกรมประชาสงเคราะห์ จากสังกัดกระทรวงมหาดไทย ไปสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และจัดแบ่งส่วนราชการในกรมประชาสงเคราะห์ใหม่ มีการตั้งกองอนาถาสงเคราะห์ ขึ้นแทนกองอาชีพสงเคราะห์ โดยแบ่งงานในกองอนาถาสงเคราะห์ ออกเป็น 5 แผนกได้แก่ แผนกสงเคราะห์อาชีพ, แผนกสงเคราะห์คนทุพพลภาพ , แผนกคนชราและบุตร, แผนกสงเคราะห์ผู้ไร้อาชีพ และ ,แผนกนิคมสร้างตนเอง

ฉบับที่ 2 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2485 ฉบับนี้ได้ตั้งกองอาชีพสงเคราะห์ขึ้นมาใหม่และแบ่งงานในกองอาชีพสงเคราะห์ เป็น 4 แผนกคือ แผนกสงเคราะห์อาชีพ แผนกสงเคราะห์ผู้ไร้อาชีพ แผนกกรรมกร และแผนกนิคมสร้างตนเองต่อมาในปี พ.ศ. 2486 ได้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดหางาน โดยรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2486 กำหนดให้สำนักงานจัดหางานเอกชนเรียกเก็บค่าบริการไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎ กระทรวงคือ ไม่เกินร้อยละ 25 ของค่าจ้างที่ได้รับใน เดือนแรก และเรียกเก็บได้เมื่อลูกจ้างได้รับค่าจ้างแล้ว นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการในการจัดหางานติดป้ายชื่อ สำนักงานไว้ที่หน้าสำนักงานโดยเปิดเผย และให้ส่งรายงานประจำเดือนภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนนับว่าเป็นการปรับปรุงกฎหมาย ครั้งแรก เกี่ยวกับการจัดหางานนับตั้งแต่มีกฎหมายฉบับแรกบังคับใช้ ต่อมาในปี 2487 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกา โอนกรมประชา สงเคราะห์ออกจากกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกระทรวง

กองกรรมกร พ.ศ 2492

ในปี พ.ศ. 2490 รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของงานด้านกรรมกรขึ้นอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งประเทศไทยภายหลังการสิ้นสุดของ สงครามโลกครั้งที่สองต้องติดต่อสัมพันธ์กับองค์การกรรมกรระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกมาแต่แรก จึงสมควร ให้มีหน่วยงานอิสระ มีฐานะเทียบเท่ากองขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่นี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ให้ตั้ง องค์การกรรมกรขึ้น โดยให้ใช้เจ้าหน้าที่ในแผนกกรรมกรเดิมเป็นผู้ปฏิบัติงาน งานในหน้าที่ขององค์การนี้ คือ การติดต่อกับองค์ การกรรมกรระหว่างประเทศ การสอบสวนภาวะกรรมกร และการจัดหางาน องค์การนี้ปฏิบัติงานได้ไม่ถึงสองปีรัฐบาลก็มีมติยุบเลิก และออกพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบกรมประชาสงเคราะห์ในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2492 มาใช้แทน พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้จัดตั้งกองกรรมกรขึ้นในกรมประชาสงเคราะห์ โดยให้โอนงานขององค์การกรรมกรทั้งหมด มาเป็นของกองกรรมกร และโอนงาน ที่เกี่ยวข้องกับกรรมกรของกองอาชีพสงเคราะห์ มาเป็นของกองกรรมกรนี้ด้วย โดยได้แบ่งงานออกเป็น 3 แผนกคือ

  • แผนกคุ้มครองกรรมกร
  • แผนกสำรวจภาวะ
  • แผนกต่างประเทศ

 

ในช่วงระยะเวลานี้ หัวหน้ากรรมกร คือ นายเกษม สุขุม ได้ศึกษา และเสนอความเห็นให้รัฐบาลให้สัตยาบัน และข้อแนะหลายฉบับ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และร่างพระราชบัญญัติสหภาพแรงงาน ให้รัฐบาลพิจารณาหลายครั้ง แต่ไม่อาจออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ เพราะมีปัญหาและอุปสรรคขัดข้องหลายประการ ใน พ.ศ. 2495 รัฐบาลในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายที่ จะอพยพคนยากจน ซึ่งอาศัยอยู่แถวบริเวณคลองหัวลำโพง และหน้าวัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพมหานคร ออกไปอยู่บริเวณถนนดินแดง ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เพื่อปรับปรงุบ้านเมืองให้ สะอาดเรียบร้อยและมีโครงการที่จะสร้างอาคารสงเคราะห์สำหรับคนยากจนในบริเวณดังกล่าวด้วย แต่เนื่องจากในท้องที่ ดังกล่าว นี้เดิมไม่มีโรงเรียนอยู่เลย ยิ่งเมื่ออพยพครอบครัวไปอาศัยอยู่มากขึ้น ความจำเป็นในอันที่จะต้องมีโรงเรียนสำหรับเด็กก็ตามมา รัฐบาล จึงได้มอบหมายให้กรมประชาสงเคราะห์ และสหพันธ์หญิงร่วมกันดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนขึ้น คือ โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ต่อมาในปี 2496

กองกรรมกร พ.ศ 2495-2498

ในปี พ.ศ. 2495 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมประชาสงเคราะห์ในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2495 มาใช้ เป็นผลให้กองกรรมกรเปลี่ยนชื่อเป็น กองจัดสรรสัมมาอาชีว -สงเคราะห์ และแบ่งงานออกเป็น 5 แผนกคือ

  • แผนกคุ้มครองแรงงานและอุตสาหกรรม
  • แผนกสำรวจและค้นคว้าภาวะแรงงาน
  • แผนกต่างประเทศ
  • แผนกสงเคราะห์การอาชีพ
  • แผนกจัดหางาน

 

ในปี พ.ศ. 2496 ได้มีพระราชบัญญัติจัดวางระเบียบราชการกรมประชาสงเคราะห์ใน กระทรวงมหาดไทยพ.ศ.2496 ออกมาแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจากฉบับเดิม ซึ่งมีผลทำให้กองจัดสรรสัมมาอาชีวสงเคราะห์ ได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นกองจัดสรร และส่งเสริมสัมมนาอาชีวสงเคราะห์ และได้มีการยุบแผนกสงเคราะห์การอาชีพด้วยในปีนี้

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2497 กองจัดสรร และส่งเสริมสัมมาอาชีวสงเคราะห์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมให้รัฐบาลพิจารณา และรัฐบาลได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ จึงมีการออกพระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งส่วนราชการออกมาใหม่ เพื่อตั้งกรมประกันสังคมขึ้นปฏิบัติงาน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมนี้ กรมประกันสังคมที่ตั้งขึ้นนี้ สังกัดอยู่กับกระทรวงการคลัง แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีปัญหา และอุปสรรคหลายประการ พระราชบัญญัติประกันสังคมนี้ จึงมิได้มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามจะได้กล่าวถึงวิวัฒนาการ ของงาประกันสังคมในรายละเอียดต่อไปในตอนที่เกี่ยวกับการสถาปนา สำนักงานประกันสังคมรัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การศึกษาของเยาวชนในถิ่นนั้น ควรจะขยายไปถึงอาชีวศึกษา และควรเปิดสอนวิชาชีพ ประเภท

กองแรงงาน พ.ศ 2498

ในปี พ.ศ. 2498 การติดต่อกับองค์การกรรมกรระหว่างประเทศได้มีมากขึ้น การช่วยเหลือทางวิชาการ ที่ประเทศไทยได้รับจากองค์การ กรรมกรระหว่างประเทศก็เพิ่มขึ้น มีชาวต่างประเทศเข้ามาศึกษา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะกรรมกรในประเทศไทยบ่อยครั้งขึ้น ทัศนะ และความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมฐานะความเป็นอยู่ของกรรมกร เป็นไปในลักษณะดีขึ้น งานด้านแรงงานจึงได้รับความสนใจจากรัฐบาล กองจัดสรร และส่งเสริมสัมมาอาชีวสงเคราะห์ จึงได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกอแรงงาน โดยพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการ กรมประชาสงเคราะห์ในกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2498 และได้แบ่งงานออกเป็น 4 แผนกคือ

  • แผนกคุ้มครองแรงงานและอุตสาหกรรมสัมพันธ์
  • แผนกสำรวจและค้นคว้าแรงงาน
  • แผนกการต่างประเทศ
  • แผนกจัดหางาน

 

กองแรงงาน พ.ศ. 2498-2505

กองแรงงานก็ได้เริ่มปฏิบัติงาน ด้านแรงงานอย่างเข้มแข็จริงจัง มีการศึกษาค้นคว้า และเสนอแนะรัฐบาล เพื่อปรับปรุงกิจการต่างๆรวมทั้งเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานหลายฉบับ ที่สำคัญ และมีผลบังคับใช้ได้แก่พระราชบัญญัติแรงงานพ.ศ.2499 เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนไทย ให้มีงานอาชีพเป็นหลักฐานเพิ่มขึ้น โดยให้บรรดาบริษัทห้างหุ้นส่วน หรือเอกชนรับคนงานที่มีสัญชาติไทยเข้าทำงาน อย่างน้อยเป็นจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ในปี พ.ศ. 2499 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.แรงงานฉบับแรกคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน ว่าด้วยว่าจ้างสภาพการทำงาน และผลประโยชน์อื่นๆ ทั้งได้ให้สิทธิแก่ผู้ใช้แรงงาน ในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และสิทธิในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ในการนี้ได้มีการปรับปรุงส่วนราชการของกองแรงงาน ซึ่งมีอยู่เดิมเพียง 4 แผนก เป็น 16 แผนก โดยมีนายเทียน อัชกุล เป็นหัวหน้ากองการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 มีผลให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมากถึง 200 แห่ง และสภาแรงงาน 2 สภา ภายในปีเดียวกันมีการนัดหยุดงานเกิดขึ้น 21 ครั้ง และมีการเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานในลักษณะอื่นๆเกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลเกิดความไม่แน่ใจ และไว้วางใจในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จึงได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2501 และยกเลิกพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 แต่เพื่อป้องกันมิให้เกิดความกระทบกระเทือนทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง รัฐบาลได้มอบอำนาจให้ กระทรวงมหาดไทย พิจารณากำหนดเวลาทำงาน วันหยุดงาน ของลูกจ้าง การใช้แรงงานหญิง และเด็ก การจ่ายค่าจ้าง การจ่ายเงินทดแทน และการจัดให้มีสวัสดิการเพื่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง ตามสมควร และเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น ระหว่างนายจ้าง กับลูกจ้างก็มอบ อำนาจให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าไปดำเนินการพิจารณา วินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานนั้นให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว จากอำนาจหน้าที่ที่รัฐบาลมอบให้นี้ กระทรวงมหาดไทย ก็ได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทยมาบังคับใช้ ในเรื่องเกี่ยวกับแรงงานในช่วง ปี 2501- 2505 รวมทั้งสิ้น 9 ฉบับ นอกจากนั้นกองแรงงาน ยังได้จัดทำหนังสือสถิติกรรมกร

ปี พ.ศ. 2500 ออกเผยแพร่ในช่วงปี 2501ด้วย นับเป็นหนังสือเกี่ยวกับสถิติกรรมกรเล่มแรกในประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2503 กองแรงงาน ได้เสนอให้กำหนดจุดมุ่งหมาย ในการสร้างงาน การทำงานการแนะแนวอาชีพ และการฝึกอาชีพไว้ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509)

ในปี พ.ศ. 2504 ได้มีพระราชกฤษฏีกามอบอำนาจของรัฐมนตรีตามมาตรา 5, 12 และ 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พ.ศ. 2475 ให้อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ และผู้ว่าราชการจังหวัด ทำการแทน และในวันที่ 20 มิถุนายน 2504 คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแรงงานแห่งชาติขึ้น ตามข้อเสนอของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ในขณะนั้นการฝึกอาชีพในหน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทย 2 หน่วยงาน ได้แก่ เทศบาลกรุงเทพ และกรมประชาสงเคราะห์ จำแนกได้ 4 ระดับ คือ

  • การฝึกอาชีพแก่เยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี
  • การฝึกอาชีพแก่ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
  • การฝึกอาชีพแก่คนพิการ และทุพพลภาพ
  • การฝึกอาชีพแก่คนชรา ชายอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปหญิงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน และเป็นงานอดิเรกในยามว่าง

 

ส่วนแรงงาน พ.ศ. 2505

ในปี พ.ศ. 2505 กองแรงงาน ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นส่วนแรงงาน เพื่อให้รับกับปริมาณงานแรงงาน และงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านของงานจัดหางาน งานวิชาการงานสำรวจ และจัดทำสถิติแรงงาน เพื่อสนองตอบการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504 – 2509)ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2505 ส่วนแรงงานแบ่งออกเป็น 3 กอง คือ กองการจัดหางาน มี 5 แผนก คือ แผนกจัดหางาน แผนกแนะแนวอาชีพ แผนกฝึกอาชีพ แผนกสวัสดิการคนงาน และแผนกส่งเสริมอาชีพ กองบริหารแรงงาน มี 5 แผนก คือ แผนกข้อพิพาทแรงงาน แผนกตรวจแรงงาน แผนกแรงงานหญิง และเด็ก แผนกค่าทดแทน และแผนกการบริหารแรงงานกองวิทยาการและสถิติแรงงาน มี 4 แผนก คือ แผนกวิจัย แผนกสำรวจแรงงาน แผนกประมวลสถิติแรงงาน และแผนกการต่างประเทศ

ในด้านจัดหางาน มีหน่วยงานดำเนินงานจัดหางานในส่วนกลาง คือสำนักงานจัดหางานกลางส่วนแรงงาน สำนักงานจัดหางานสถานีรถไฟกรุงเทพฯ และสำนักงานจัดหางานสถานีรถยนต์ขนส่งสายเหนือ ในส่วนภูมิภาคมีสำนักงานจัดหางานจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น และสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาในปี 2506 ได้มีการโอนงานแผนกอาชีวศึกษา โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ กองการสงเคราะห์เด็ก และบุคคลวัยรุ่น มาอยู่ภายใต้การบริหารงาน ของกองแรงงาน และในปีเดียวกัน ได้เริ่มมีการสำรวจการเข้าออกงานของลูกจ้างเป็นครั้งแรก และในปี 2507 มีการสำรวจสภาพการทำเหมืองแร่เป็นครั้งแรกด้วย

ในช่วงปี พ.ศ. 2505 ถึง 2507 ได้มีการประกาศกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ออกมาบังคับใช้อีก 5 ฉบับ เป็นการแก้ไขเรื่องเกี่ยวกับวันหยุดงาน เวลาทำงาน การใช้แรงงานหญิง และเด็ก การจ่ายค่าจ้าง การจัดให้มีสวัสดิการเพื่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง หลักเกณฑ์ และวิธีการจ่ายเงินทดแทน และจำนวนเงินค่าทดแทน คณะกรรมการบริหารสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติได้ พิจารณาเรื่องการฝึกอบรมเพิ่มเติม ยกระดับความสามารถ และฝีมือของคนงาน และเจ้าหน้าที่ ในขบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม และได้ขอความช่วยเหลือทางวิชาการ จากองค์การสหประชาชาติใน ปี 2507 ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้ ส่งผู้เชี่ยวชาญ จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ มาช่วยปฏิบัติงานด้านนี้ และได้เสนอให้จัดตั้ง สถาบันการฝึกเพื่อปรับปรุงความสามารถทางเทคนิค และฝีมือคนงาน (Institute for Technical Skill Promotion) ทั้งนี้เพราะเห็นว่า ผู้ประกอบอาชีพอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ยังมีความสามารถ และฝีมืออยู่ในระดับต่ำ ลูกจ้างคนงานจำต้องหาความรู้ความชำนาญด้วยตนเอง ภาคการศึกษาอาชีวของรัฐยังเน้นภาคทฤษฎีอยู่ถึง 75% ขาดแคลนสถานท ี่เครื่องมือ และขาดบุคลากรหัวหน้างานที่ได้รับการฝึกอบรมมาแล้วที่สามารถฝึกสอนลูกจ้างคนงาน ใหม่ได้ จึงได้เสนอว่า การดำเนินงานตามโครงการฝึกอบรมเพิ่มเติม เพื่อยกระดับความสามารถ และฝีมือ คนงาน ควรจะจัดตั้งสถาบันเป็นการนำร่องขึ้น ที่ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพที่ดินแดง ของกรมแรงงาน ทั้งนี้โดยคำนึงถึงเรื่อง การประหยัด เนื่องจากสถานที่นั้นมีอาคาร โรงฝึก และบุคลากรอยู่แล้ว และเมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งแล้วอาจจะมีการจัดตั้งสถาบันฯ ในลักษณะเดียวกันที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ก็ได้ โดยในระยะแรก เห็นควรให้ฝึกในสาขาอาชีพช่างวิทยุและวิทยุโทรทัศน์

สถาปนากรมแรงงาน พ.ศ. 2508

ในช่วงปี พ.ศ. 2505-2508 การบริหารงานแรงงาน ของส่วนแรงงาน ได้พัฒนา และขยายขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านงานจัดหางานงาน คุ้มครองแรงงาน และงานสำรวจข้อมูลต่างๆ ตามการเติบโตทางด้านประชากร และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในช่วงระยะนี้ มีประชากร ที่มีอายุเข้าสู่วัยทำงานเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณปีละ3 แสนคน และเป็นช่วงที่รัฐบาลดำเนินงานตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าขึ้นทัดเทียมกับอารยประเทศ ซึ่งได้ผลเกินเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ทำให้อุตสาหกรรม และการจ้างงานขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ในปลายปี พ.ศ. 2508 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (ฉบับที่3) พ.ศ.2508 ตั้งกรมแรงงานขึ้นในกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2508 และออกพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารของกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย เฉพาะที่เกี่ยวกับราชการ ของส่วนแรงงานไปเป็นของ กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2508 เพื่อโอนอำนาจหน้าที่ กิจการทรัพย์สินข้าราชการ ลูกจ้าง และเงินงบประมาณของส่วนแรงงานทั้งหมดไปเป็นของกรมแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2508 ด้วยเช่นกัน เมื่อตั้งเป็นกรมแรงงานแล้ว กระทรวงมหาดไทย ได้แต่งตั้งให้ นายเทียน อัชกุล มารักษาราชการ ในตำแหน่งอธิบดีกรมแรงงานไปพลางก่อน เมื่อถึงเดือน เมษายน 2509 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศแต่งตั้งให้ นายเทียน อัชกุล เป็นอธิบดีกรมแรงงานคนแรก ในช่วงตั้งกรมแรงงานใหม่นั้น กรมแรงงานยังคงมีหน้าที่ความรับผิดชอบเหมือนเดิม คือการให้บริการจัดหางานให้บุคคลที่ต้องการทำงาน และจัดหาคนให้แก่บุคคลที่ต้องการคนทำงาน การให้การส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานฝึกอาชีพ และพัฒนากำลังคน การสำรวจ/ศึกษาค้นคว้า และวิจัยปัญหาเกี่ยวกับแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน การป้องกัน และระงับข้อพิพาทแรงงาน การเผยแพร่ความรู้ และการให้การศึกษาอบรม แก่นายจ้าง และคนหางาน เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดี ในสถานประกอบการ และการแบ่งหน่วยงาน ก็ยังเป็นไปตามเดิม จนถึงเดือนสิงหาคม 2509 จึงได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2509 ออกมาแบ่งหน่วยงาน ในกรมแรงงานเป็น 5 กอง คือ

  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กองพัฒนาฝึกอาชีพ
  • กองการจัดหางาน
  • กองคุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์
  • กองวิชาการ และสวัดิการแรงงาน

 

ในปีเดียวกันนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามความเห็นของคณะกรรมการบริหารสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการฝึก เพื่อปรับปรุงความสามารถทางเทคนิค และฝีมือคนงานขึ้นในกรมแรงงาน ในส่วนของการดำเนินงานด้านพัฒนาอาชีพนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอาชีพ ขึ้นมาดูแลให้คำแนะนำปรึกษาการดำเนินงานฝึกอาชีพด้วย ซึ่งในระยะเวลาต่อมาคณะกรรมการชุดนี้ ก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อ และยกฐานะขึ้นเป็น คณะกรรมการพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2511

TOP