พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ครั้งที่ 2/2559 โดยมี พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมประชุม ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร กล่าวระหว่างประชุมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้ครอบคลุมตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) เห็นชอบ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่ต้องเร่งออกประกาศรองรับโดยอาศัยอำนาจมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดพร้อมมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามแนวทางที่ กนร. เห็นชอบ รวมทั้งให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวและออกใบรับรองสุขภาพโดยเร็ว เพื่อให้แรงงานต่างด้าวนำไปขอใบอนุญาตการทำงานได้ทันภายในเวลาที่กำหนด ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานด้านความมั่นคงจะต้องดำเนินการสกัดกั้น ปราบปราม จับกุม ผู้นำพา ผู้ให้ที่พักพิงแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งเอาผิดกับนายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานเด็กจะต้องให้ความสำคัญเพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและล้งกุ้งต่างๆ รวมถึงต้องเป็นหน่วยงานหลักบูรณาการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามมติ กนร. อย่างจริงจังต่อไป
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการนำเข้าแรงงานเวียดนาม ซึ่งเห็นชอบวิธีการนำเข้าโดยนายจ้างสามารถยื่นขอนำเข้าเองหรือยื่นผ่านบริษัทจัดหางานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้ เพื่อนำเข้ามาทำงานในกิจการประมงและก่อสร้าง ทั้งนี้ คาดว่าไม่เกินกลางเดือนมีนาคม 2559 จะเห็นความชัดเจน โดยให้กระทรวงแรงงานกำหนดแนวทางดำเนินการให้มีความโปร่งใส สะดวก ประหยัด รวดเร็ว อีกทั้งพิจารณากำหนดระยะเวลาให้แรงงานต่างด้าวทำงานได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี (จากเดิมครั้งละ 1 ปี) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประเด็นการพิจารณาการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลังวันที่ 31 มีนาคม 2559 ที่ประชุมเห็นชอบขยายเวลาการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาวและกัมพูชา ที่อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคมนี้ จำนวนกว่า 1 ล้านคน ให้สามารถพำนักและทำงานในประเทศไทยชั่วคราวได้หลังครบกำหนด แต่ระยะเวลาขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้จัดแรงงานคัดแยกปลากุ้งและสัตว์น้ำ รวมอยู่ในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อให้การจดทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ครอบคลุมการทำงานของแรงงานต่างด้าวที่มีลักษณะใกล้เคียงกันและถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ กกจ. ไปศึกษาแนวทางการจัดตั้งส่วนงานราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ เนื่องจากการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 3 เดือน และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยมีกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะเข้ามาร่วมให้ข้อเสนอแนะด้วย เบื้องต้นมองว่าจะตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยต้องออกกฎหมายรองรับเพื่อให้มีอำนาจดำเนินการได้
“OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER TOGETHER
“เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะที่นี่คือ บ้านของเรา ประเทศไทยของเรา”
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
วิชชุลดา บัวชัย – ข่าว/สมภพ ศีลบุตร ภาพ/