รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (PIPO) พร้อมเข้าเยี่ยม สถานประกอบกิจการ เพื่อตรวจคุ้มครองแรงงาน ตลอดจนรับทราบและป้องกัน แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และยาเสพติดอย่างจริงจังตามนโยบายรัฐบาล มุ่งเน้นคุ้มครอง ป้องกัน ดูแลสิทธิแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พร้อมเยี่ยมชมการฝึกอาชีพทหารกองประจำการกองทัพเรือ
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้หยิบยกปัญหา การค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยได้กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2554 – 2559 ที่ให้ความสำคัญ 5 ด้าน คือ การป้องกัน การดำเนินคดี การคุ้มครองช่วยเหลือ การพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อนการพัฒนาและการบริหารข้อมูล ซึ่งนโยบายเพื่อแก้ไข ป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยได้ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นหลัก โดยมุ่งเน้นการปราบปรามและดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ดังนั้น กระทรวงแรงงาน จึงได้มีนโยบายเร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตามนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดยในวันนี้ กระทรวงแรงงานได้เข้า ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (PIPO) และสถานประกอบกิจการในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ได้แก่ บริษัท ไทยซัมมิท ฮาร์เนส จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งประกอบกิจการผลิตแผงวงจรไฟฟ้าในรถยนต์ มีลูกจ้างทั้งหมด 2,382 คน ลูกจ้างไทย 2,381 คน ลูกจ้างชาวญี่ปุ่น ๑ คน เพื่อตรวจสภาพการทำงานและรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการและลูกจ้าง โดยจะนำไปเป็นแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ตลอดจนปัญหายาเสพติดที่ตรงต่อปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงมีสถานประกอบกิจการและแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก โดย มีสถานประกอบกิจการ จำนวน 11,574 แห่ง ลูกจ้าง จำนวน 586,527 คน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ต้อง เฝ้าระวังและติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดและอาจเสี่ยงต่อการบังคับใช้แรงงานและ การละเมิดสิทธิแรงงานได้
ในส่วนศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก หรือ PIPO กระทรวงแรงงาน ได้จัดเจ้าหน้าที่ของทุกส่วนราชการในสังกัด ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกศูนย์ฯ รวม 28 ศูนย์ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ศูนย์ PIPO จังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบล สัตหีบ จังหวัดชลบุรี การตรวจเยี่ยมในวันนี้ก็เพื่อที่จะได้รับทราบสภาพการทำงานและสภาพปัญหาที่แท้จริงของนายจ้างและลูกจ้างในพื้นที่ ซึ่งตั้งแต่ 6 พ.ค. – 11 พ.ย. 58 มีการตรวจเรือเข้า – ออก จำนวน 10,865 ลำ ลูกจ้าง 134,405 คน แยกเป็นแรงงานไทย 24,850 คน แรงงานต่างด้าวสามสัญชาติ 109,555 คน ทั้งนี้ ไม่พบการกระทำความผิดที่เข้าข่ายแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานแต่อย่างใด นอกจากนั้น ในปี 2558 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการในจังหวัดชลบุรีไปแล้ว จำนวน 1,051 แห่ง ลูกจ้างรวม 43,286 คน พบนายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้อง 84 แห่ง ซึ่งได้ออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง 83 แห่ง ดำเนินคดี 1 แห่ง รวมไปถึงการตรวจกำกับสถานประกอบกิจให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จำนวน ๓๐๖ แห่ง ลูกจ้าง 15,461 คน พบนายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้อง 11 แห่ง ซึ่งทั้ง 11 แห่ง ดังกล่าวได้ปฏิบัติตามคำสั่งเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ กสร. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจบูรณาการในกิจการประมงทะเลและที่เกี่ยวเนื่อง อันได้แก่ การตรวจเรือ จำนวน 454 ลำ ไม่พบว่ามีการกระทำผิดที่เข้าข่ายแรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ ด้านแรงงาน แต่พบว่ามีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในเรื่อง การใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในเรือประมงทะเล จำนวน 3 ราย อีกทั้งยังได้มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย โดยดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษนายจ้างใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 1 ราย ดำเนินการเปรียบเทียบปรับฐานไม่แจ้งการจ้างลูกจ้างอายุ ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปี ต่อพนักงานตรวจแรงงาน จำนวน 3 ราย และร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน จำนวน 1 ราย ทั้งนี้ กสร.ได้เร่งดำเนินการตรวจสภาพการจ้างและสภาพการทำงานจริงของทุกพื้นที่ ตลอดจนตรวจคุ้มครองแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเข้มงวด เพื่อให้เกิดผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและขจัดการค้ามนุษย์ ด้านแรงงานให้หมดสิ้นไป
และในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ตรวจเยี่ยมการฝึกอาชีพในโครงการพัฒนาอาชีพทหารกองประจำการกองทัพเรือ ณ กรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดให้มีการฝึกพัฒนาอาชีพทหารกองประจำการกองทัพเรือในหลักสูตรเตรียมเข้าทำงานรุ่นที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2559 ในสาขาต่าง ๆ ดังนี้ ช่างซ่อมจักรยานยนต์/ ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร /ช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ/ ช่างเชื่อมปรับอากาศขนาดเล็ก รวมผู้เข้าฝึก 74 คน รวมทั้งยังได้ฝึกกำลังพลประจำเรือพาณิชย์ (ฝ่ายช่างกลเรือ) 15 คน และกำลังพลประจำเรือพาณิชย์ (ฝ่ายเดินเรือ) 22 คน ณ กองการฝึก กองเรือยุทธการ และช่างก่ออิฐ-ฉาบปูน 10 คน ณ กรมก่อสร้างและพัฒนา ฐานทัพเรือสัตหีบ รวมฝึกอบรมทั้ง 3 จุด รวม 121 คน มีระยะเวลาฝึก 280 ชั่วโมง เริ่มฝึกตั้งแต่ 13 ต.ค. 58 เสร็จสิ้น 17 ธ.ค. นี้ พร้อมชมการสาธิตการเชื่อมใต้น้ำด้วย
***************************
“OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER TOGETHER”
“เราจะเติมโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะที่นี่คือ บ้านของเราประเทศไทยของเรา”
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
19 พฤศจิกายน 2558