ก.แรงงาน เผยศูนย์ Smart Job Center พร้อมให้บริการผู้หางานทุกระดับ คาดปี’58 ลดตัวเลขผู้ว่างงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 8 – 10 จากตัวเลขผู้ว่างงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้าน ‘รมว. แรงงาน’ ย้ำ!! สถานการณ์ด้านแรงงานต่างชาติ ต้องวิเคราะห์ลักษณะต่างๆ ของแรงงานแต่ละประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเลือกแรงงานนำเข้าให้เหมาะสมกับงานในประเทศมากที่สุด
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในระหว่างเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ด้านแรงงาน ณ ห้องประชุม Executive Operation Room ชั้น 5 ว่า กระทรวงแรงงานมีเจตนารมณ์ที่จะเป็นเอเย่นต์หางานให้กับคนไทยได้มีโอกาสที่จะมีงานทำอย่างเต็มรูปแบบโดยผ่านศูนย์ Smart Job Center ซึ่งจะใช้ทรัพยากรกระทรวงแรงงานที่มีอยู่อย่างเต็มที่ร่วมกัน การสร้างศูนย์ Smart Job Center ถ้าทำดีตึกสวยงามแต่ไม่มีใครมาหาเราเลย นั่นคือสิ่งที่ต้องคิด การต้อนรับการให้บริการบรรยากาศต้องอบอุ่น นั่นคือโจทย์ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมกันคิด ทั้งนี้คนไทยต้องมีงานทำ แต่ปัจจุบันคนไทยบางส่วนอาจเข้าไม่ถึงการมีงานทำอันเนื่องจากอาจไม่มีการบริหารจัดการเหมือนต่างประเทศที่มีเอเย่นต์จัดหางาน กระทรวงแรงงานจึงต้องเข้ามาทำบทบาทเสมือนเอเย่นต์รวมทั้งสร้างค่านิยมการใช้แรงงานให้ถูกต้อง
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า คาดว่าเมื่อเปิดศูนย์ Smart Job Center จะมีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มผู้หางานระดับกลางถึงระดับสูงได้ โดยได้มีการกำหนดเป้าหมาย โดยคาดว่าจะมีการขยายศูนย์ Smart Job Center ไปยังปริมณฑล ทั้งนี้ใน 2558 จะสามารถลดตัวเลขผู้ว่างงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลงร้อยละ 8 – 10 จากตัวเลขผู้ว่างงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับความก้าวหน้าของศูนย์ Smart Job Center ได้มีการรับมอบแปลนปรับปรุงอาคารจากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 โดยได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ มาโดยลำดับ รวมถึงการเตรียมบุคลากรโดยซักซ้อมความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติงาน และจัดเตรียมสื่อประขาสัมพันธ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้พร้อมที่จะให้บริการประชาชนตามกำหนดการเปิดศูนย์ ล่าสุดมีการดำเนินการไปแล้วกว่า 50% เบื้องต้นจะมีพิธีการเปิดศูนย์ฯ ได้ ในวันที่ 19 มกราคม 2558
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่าประเด็นสถานการณ์ด้านแรงงานต่างชาติ มอบหมายให้กรมการจัดหางาน วิเคราะห์ลักษณะและศักยภาพของแรงงานต่างชาติ ชาติต่างๆ ที่แสดงเจตน์จำนงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยประเด็นที่จะวิเคราะห์ ได้แก่ ความเหมาะสมกับลักษณะงานประเภทใด นิสัยใจคอ อารมณ์ วัฒนธรรม ทั้งนี้การวิเคราะห์ต้องครอบคลุมทุกมิติมิใช่เฉพาะในมิติด้านแรงงานเท่านั้น
ทั้งนี้ จำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร จำแนกตามลักษณะการเข้าเมืองและประเภทคนต่างด้าว เดือนพฤศจิกายน 2557 รวมทั้งสิ้น 1,504,287 คน ในส่วนของตัวเลขการจดทะเบียน ณ ศูนย์ OSS (สิ้นสุด 31 ต.ค.57) แบ่งเป็นจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว จำนวน 1,612,320 คน แรงงานต่างด้าว 1,520,083 คน (เมียนมา 612,977 คน กัมพูชา 693,630 คน ลาว 213,431 คน)? ผู้ติดตาม 92,282 คน (เมียนมา 40,746 คน กัมพูชา 42,395 คน ลาว 9,141 คน) และนายจ้าง จำนวน 315,032 ราย
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
วิชชุลดา บัวชัย – ข่าว/สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/