Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ก.แรงงาน จัดระเบียบต่างด้าว “ยุติ” การโยกย้ายถิ่นผิด กม.

pll_content_description




Preview

Download Images

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รายงานสถานการณ์และความท้าทายปัจจุบันในการจัดระเบียบแรงงานต่างชาติ ผ่านการสัมมนาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านการโยกย้ายถิ่นฐาน (DCS) การเคลื่อนย้ายแรงงาน การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ปรับปรุงกฎหมายระเบียบภายในของประเทศเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ สะดวกรวดเร็ว ง่าย ราคาถูก เสียค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด ไม่แตกต่างจากการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เป็นแรงจูงใจการเข้ามาอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น
            พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงสถานการณ์และความท้าทายปัจจุบันในการจัดระเบียบแรงงานต่างชาติ ในการสัมมนาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านการโยกย้ายถิ่นฐาน (DCS) ว่า ประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าและมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ 
ด้านอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นลำดับ จึงมีการหลั่งไหลเข้ามาทำให้เกิดความต้องการกำลังแรงงานในเมืองไทยมีจำนวนมากทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย แนวความคิดของรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานมองแรงงานต่างด้าวที่เข้าสู่ประเทศไทยเป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมี มีอย่างที่สามารถบริหารจัดการได้และสามารถคุ้มครองแรงงานได้ตามกฎหมายไทยและมาตรฐานสากล ความต้องการที่จะมีกำลังแรงงานต่างด้าวคงมีเพียงพอต่อภาคธุรกิจที่ต้องการ แต่เป็นจำนวนที่ประเทศไทยสามารถควบคุมทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้ แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องเกิดความสมดุลกับชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศไทย เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ โดยไม่กระทบต่อสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทยมากจนเกินไป นี้เป็นแนวคิดที่นำมาเป็นตัวตั้งในการบริหารจัดการ
            แรงงานต่างด้าวจะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย มียอดอยู่ประมาณ ๑.๓ คน และอีกกลุ่มเข้ามาในระบบข้อตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งการเข้ามาทำงานโดยถูกกฎหมายนั้น รัฐบาลไทยอนุญาตทำงานอยู่ได้คราวละ ๒ ปี ทำงานครบ ๔ ปี จะต้องออกจากราชอาณาจักรไทย ๓ ปี ถึงจะกับเข้ามาทำงานใหม่ได้ ซึ่งนั้นเป็นไปตามระเบียบเดิม แต่เมื่อค้นพบว่าแรงงานที่ทำงานมามีความชำนาญพอสมควร นายจ้างมีความพึงพอใจกับลูกจ้าง ลูกจ้างก็อยากทำงานในประเทศไทยต่อไป รัฐบาลจึงได้อนุมัติหลักการใหม่ให้ลดการออกจากราชอาณาจักรไทยจาก ๓ ปี เหลือ ๓๐ วัน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวกลับไปเยี่ยมครอบครัว และทำเอกสารประจำตัวที่หมดอายุ บัตรประจำตัวพาสสปอร์ต และขออนุญาตกลับเข้ามาในทำงานในประเทศไทยใหม่ได้ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงการเพิ่มของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้อีกทางหนึ่ง สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย ได้มีการดำเนินการจดทะเบียนวันสต๊อปเซอร์วิส (One Stop Service) ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในปี ๒๕๕๗ มีผู้มาลงทะเบียน ๑.๖ ล้านคน รวมทั้งผู้ติดตามด้วย และได้มีการตรวจสัญชาติโดยประเทศต้นทางลาว เมียนมา กัมพูชา เมื่อตรวจสัญชาติเสร็จก็จะเหมือนเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย ได้ปรับสถานะเป็นพวกที่ใกล้เคียงกับพวกที่เข้าเมืองถูกกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น
             วันนี้มีการตรวจสัญชาติผ่านแล้ว ๓ แสนกว่าคน แต่เนื่องจากการตรวจสัญชาติไม่สามารถทำได้รวดเร็ว ความสามารถและการพิจารณาของประเทศเพื่อนบ้านมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้แรงงานผิดกฎหมายยังขาดเอกสารหลักฐานจึงทำให้การออกพาสปอร์ตหรือหนังสือรับรองบุคคลทำได้ยาก คาดว่าเมื่อสิ้นสุดการดำเนินการในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙ จะมีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านประมาณ ๒ ล้านคน และยังมีแรงงานอีกกลุ่มที่เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่มีความยากลำบากในการแก้ปัญหามากที่สุดคือ แรงงานประมง ที่ได้อนุญาตให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมในช่วง ๙๐ วัน นับแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ เป็นต้นมา จึงได้มีการวิเคราะห์อาชีพประมงและเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่ใช่ใครก็จะทำได้ ต้องทำงานกลางทะเลเป็นระยะยาวนาน ต้องมีร่างกายแข็งแรงอดทน จึงคิดว่าควรจะนำแรงงานที่มีอาชีพประมงโดยตรงจากประเทศใดก็ได้ที่สมัครใจเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่วันนี้ทางรัฐบาลไทย โดยกระทรวงแรงงานมองเห็นว่าในอนาคตการแก้ปัญหาจะต้องแก้ปัญหาโดยรวมของทั้งพื้นที่ในกลุ่มของประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งต้องร่วมกันแก้ปัญหาในภาพรวม โดยได้มีการปรับปรุง MOU บันทึกข้อตกลงไว้กับ ๓ ประเทศ ลาว เมียนมา กัมพูชา มีความก้าวหน้าในเนื้อหาประมาณ ๘๐% และได้พัฒนาความสัมพันธ์มีการทำ MOU กับประเทศเวียดนาม ซึ่งเชื่อมั่นว่าถ้ามีการพูดคุยกันและมีข้อตกลงที่ดีต่อกัน การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในอนาคต ถ้าสามารถทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมีการบริหารจัดการก่อนจะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยโดยความร่วมมือด้วยกันทุกฝ่ายการเข้าสู่ประเทศไทยก็จะเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย และคาดว่าในอนาคตอันไม่ไกลนี้จะได้พัฒนาการทำงานร่วมกันใน ๕ ประเทศ ได้มีการปรับกฎหมายภายในหรือระเบียบภายในของแต่ละประเทศให้สอดคล้องกับการทำงานจริงของแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือนั้นจะสามารถแก้ปัญหาผิดกฎหมายได้มากพอสมควร
            เราหวังผลลัพธ์ในอนาคตแรงงานทุกประเภทที่เข้ามาทำงานในไทยเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยความร่วมมือจากทุกประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกัน และสิ่งที่จะทำต่อไปจะปรับปรุงกฎหมายระเบียบภายในของประเทศไทยเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ รวมถึงค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าถ้าสามารถทำให้การเข้าเมืองของแรงงานโดยถูกกฎหมายเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ง่าย ราคาถูก คือค่าใช้จ่ายน้อยต่ำที่สุด โดยไม่แตกต่างจากการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จะเป็นแรงจูงใจให้การเข้ามาอย่างถูกกฎหมายมีมากขึ้น อีกส่วนที่กำลังศึกษาอยู่จะมีการปรึกษาหารือกับ IOM โครงสร้างราชการไทยในกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะกรมการจัดหางานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงว่าลักษณะที่ทำงานอยู่จะสามารถแก้ปัญหาในสิ่งที่รัฐบาลคาดหวังในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่งจากที่ได้ศึกษาจากประเทศต่างๆ ในการจัดหางานโดยภาครัฐจะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมกฎหมายระเบียบ ส่วนการบริหารจัดการน่าจะใช้ภาคเอกชนหรือหน่วยงานกึ่งรัฐ แต่ในเมืองไทยเป็นทั้ง ๒ อย่างในหน่วยงานเดียว ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาเกิดความยุ่งยาก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดในการทำงาน
            ทั้งนี้ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการสัมมนาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านการโยกย้ายถิ่นฐาน (DCS) กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ เนื่องจากหน่วยงานทั้งหมดของ UN และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย จะมีการร่วมหารือกันการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาวะที่ไม่ปกติ โดยพูดคุยทั้งประเทศต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ซึ่งจะทำให้หาวิธีที่จะดำเนินการสิ่งนี้ได้ง่ายขึ้น


#######################


กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘

กัณติภณ คูสมิทธิ์ ข่าว ภาพ

 

Tags:

TOP