วันที่ 10 ตุลาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการของ สสปท. โดยมี นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายกำธร ชีพชัยอิสสระ ประธานกรรมการ สสปท. นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สสปท. ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ EEC และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมด้วย ณ โรงแรม เอส.ดี. อเวนิว ถนนบรมราชชนนี เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีแรงงาน 2,634,000 คน เป็นแรงงานในระบบ 1,690,000 คน และแรงงานอิสระ 944,000 คน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะลดอุบัติเหตุจากการทำงานในพื้นที่ ให้ไม่เกิน 4 % ต่อปี ผ่านโครงการ Zero Accident พร้อมพัฒนาระบบการทำงานที่ทันสมัย สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างมาตรฐานความปลอดภัยที่เหมาะสมกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มสถานประกอบกิจการอีก 16% หรือ 2,000 แห่ง ภายในปี 2568 ผมขอขอบคุณ EEC ที่ร่วมมือกับ สสปท. ในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและยั่งยืน
ด้าน นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สสปท. กล่าวเสริมว่า ในวันนี้เราได้มอบรางวัล Zero Accident 2024 จำนวน 101 รางวัล และรางวัลโครงการพัฒนาสถานประกอบกิจการตามมาตรฐานระบบการจัดการด้านความปลอดภัยฯ ประจำปีงบประมาณ 2566 อีก 38 รางวัล ซึ่งรางวัลเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสถานประกอบกิจการในการรักษาความปลอดภัยในที่ทำงาน ซึ่งไม่เพียงแต่ปกป้องชีวิตแรงงาน แต่ยังช่วยคุ้มครองทรัพย์สินและสร้างเสถียรภาพในองค์กร ความสำเร็จเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้สถานประกอบกิจการอื่นๆ ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อประโยชน์ทั้งต่อบุคคล สังคม และประเทศชาติ
ขณะที่ ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ EEC ได้กล่าวปิดท้ายว่า EEC ขอขอบคุณกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ได้ร่วมกันสรรหาแรงงานกว่า 100,000 คน เข้าทำงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่มีความสำคัญและประสบผลสำเร็จอย่างสูง ในโอกาสนี้ถือเป็นมิติใหม่ที่ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงานและสสปท.)เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน โดย EEC พร้อมที่จะร่วมมือ สนับสนุน และแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคน นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าของสถานประกอบการและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ตอกย้ำการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคนี้.