กระทรวงแรงงาน ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU) เปิดโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล พร้อมลงนามแสดงเจตจำนงการร่วมดำเนินโครงการ (Letter of Intent) เพื่อแก้ปัญหาสภาพการทำงานที่ละเมิดหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมประมงและต่อเนื่องประมงทะเล
Preview
Download Images
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานและเปิดโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล (Combatting Unacceptable Forms of Work in the Thai Fishing and Seafood Industry) กล่าวว่า กระทรวงแรงงานตระหนักดีว่าสิทธิแรงงานเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ต้องได้รับการคุ้มครองเพื่อสร้างกรอบงานที่มีคุณค่า (Decent Work) และบรรลุกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) แห่งสหประชาชาติที่รัฐบาลไทยมีเจตนารมณ์มั่งมั่นต่อการพัฒนาที่ให้ความสำคัญต่อการยึดคนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Group) และความเป็นหุ้นส่วนภาคีเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
การขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวเป็นสิ่งที่มุ่งหวังว่าสถานการณ์ปัญหาการใช้แรงงานบังคับที่เป็นข้อห่วงใยของทุกภาคส่วนจะได้มีนวัตกรรม ความคิดริเริ่มใหม่ๆ ต่อมาตรการดำเนินการในเชิงรุกเพื่อให้ได้รูปแบบการทำงานที่เป็นที่ยอมรับของสากลในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล เช่น มีสภาพการทำงานที่เหมาะสม ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ และการใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น ปัจจุบันความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวของประเทศไทยที่ครอบคลุมทั้งด้านนโยบาย (Policy) กรอบกฎหมาย (Legal Framework) การดำเนินคดีบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement & Prosecution) และการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ได้ถูกยกระดับขึ้นให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนในหลากหลายมิติอย่างเป็นรูปธรรมและเข้มข้น เพื่อให้สามารถแก้ไขเยียวยาสถานการณ์ปัญหาที่ซับซ้อนเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานานได้บรรเทาเบาบางลง พร้อมต้องสร้างความตระหนักรู้และการยอมรับการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง องค์กรผู้นำแรงงาน องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรภาควิชาการ ตามแนวทาง ‘ประชารัฐ’ ส่วนมาตรการบังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้กระทำผิดให้เป็นบรรทัดฐานของสังคม และต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นจริงจัง
นอกจากนี้ พลเอก ศิริชัยฯ ได้เป็นสักขีพยานการลงนามแสดงเจตจำนงการร่วมดำเนินโครงการ (Letter of Intent) ระหว่าง หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนายมอริซิโอ บุซซี่ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ILO) และหนังสือความตกลงให้เงินสนับสนุนสำหรับโครงการฯ ระหว่าง นายเฆซูส มิเกล ซันส์ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU) และนายมอริซิโอ บุซซี่ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ILO)
นายเฆซูส มิเกล ซันส์ (Mr. Jesús Miguel SANZ) เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (EU) กล่าวว่า สหภาพยุโรปมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ๒๐๓๐ ที่มุ่งเน้นหลักการพัฒนาไปพร้อมกัน (Leaving no one behind) สหภาพยุโรปมีข้อกังวลต่อผู้เสียหายที่ตกเป็นแรงงานบังคับ และแรงงานเด็กจำนวนมากที่ปราศจากสิทธิและไม่มีโอกาสความเป็นไปได้ใดที่จะหลีกหนีสภาพการทำงานที่เลวร้าย สหภาพยุโรปยินดีอย่างยิ่งถึงความมุ่งมั่นที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยในความพยายามในการแก้ไขปัญหาด้วยความตั้งใจ โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ
นายมอริซิโอ บุซซี่ (Mr. Maurizio Bussi) ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ILO) กล่าวว่า ไอแอลโอมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เริ่มดำเนินโครงการร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนในการพัฒนาปรับปรุงภาคอุตสาหกรรมที่ทุกวันนี้ถูกมองว่ายังคงมีปัญหารูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับ ไปสู่อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการทำงานที่มีคุณค่า โครงการนี้เน้นการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก และรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับรูปแบบอื่นๆ โดยหัวใจสำคัญของโครงการมุ่งเน้นที่ศักดิ์ศรีหรือคุณค่าของแรงงาน ซึ่งเป็นสาระสำคัญของหลักการทำงานที่มีคุณค่า อีกทั้งเรื่องของความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย หลักธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในทุกยุทธศาสตร์ของการดำเนินโครงการ
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
กัณติภณ คูสมิทธิ์ ข่าว
สมภพ ศีลบุตร ภาพ