Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ก.แรงงาน ดีเดย์ ออก E-Work permit ลดขั้นตอน ตรวจสอบง่าย พร้อมบริการ ภายในเมษายน 2560

pll_content_description

     ก.แรงงาน พร้อมบริการ E-Work permit สำหรับเเรงงานต่างด้าวตาม MOU เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว  นำร่อง จ.ตาก เป็นแห่งแรก 

          ๒๑ เมษายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๔.๓๐ น. พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางตรวจเยี่ยมศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดตาก เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและตรวจสอบความพร้อมของระบบก่อนดำเนินการ และมอบบัตร E-work Permit ใบแรกให้แก่เเรงงานต่างด้าว  ณ อำเภอแม่สอด จ.ตาก  ทั้งนี้ ระบบดังกล่าว จะสามารถลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวยิ่งขึ้น  โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า  “ใบอนุญาตทำงานในรูปแบบ E – Work Permit จะเป็นใบอนุญาตทำงานที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในรูปแบบสมาร์ทการ์ด (Smart card) สะดวกต่อการพกพาเเละมีระบบป้องกันการปลอมเเปลง รวมถึงง่ายต่อการตรวจสอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน (Smart Phone) ตรวจสอบผ่าน QR Code ที่ปรากฏบนบัตร  โดยจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวได้เป็นอย่างดี  กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานจะดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานให้แรงงานต่างด้าวที่นำเข้าตามบันทึกความตกลง (MOU) ที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน  ซึ่งจะได้รับใบอนุญาตทำงานแบบ E – Work Permit ภายในเดือนเมษายน 2560 นี้  ที่ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง จ.สระแก้ว หนองคาย และตาก ซึ่งจะนำร่องใน จ.ตากเป็นแห่งแรก ทั้งนี้ เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าว  สำหรับแรงงาน MOU ที่ได้รับใบอนุญาตทำงานแบบเดิม เมื่อมาขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ก็จะได้รับใบอนุญาตทำงานแบบ   E – Work Permit”
          ทั้งนี้ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง เปิดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559  โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) มีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและใช้ชีวิตขณะที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย เช่น ความรู้ด้านภาษาพื้นฐาน ข้อกฎหมาย สัญญาจ้าง ขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้แรงงานที่จะเข้ามาทำงานสามารถดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างปกติสุข ตลอดระยะเวลาที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทย นอกจากนั้น ยังเป็นศูนย์คัดกรอง ตรวจสอบแรงงานก่อนอนุญาตให้เดินทางเข้ามาทำงานเพื่อป้องกันปัญหาการถูกหลอกลวง ชักจูงหรือการลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย
          ปัจจุบันเปิดดำเนินการนำร่องรวม 3 แห่ง คือ ที่จังหวัดตาก สระแก้ว และหนองคาย มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ผ่านการอบรมไปแล้วประมาณ 100,000 คน สำหรับจังหวัดตากผ่านการอบรมไปแล้วทั้งสิ้นประมาณ 60,000 คน  จากจำนวนนายจ้างที่ยื่นคำขอนำเข้ารวม 4,800 ราย  ซึ่งเป็นการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายตามระบบ MOU ผ่านกระบวนการคัดกรองจากประเทศต้นทาง และได้รับการตรวจลงตราให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยก่อนเข้ารับการอบรม และสามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้ทันที ณ ศูนย์แห่งนี้ เพื่อส่งต่อไปยังนายจ้าง/สถานประกอบการในจังหวัดปลายทางต่างๆ

กองเผยเเพร่และประชาสัมพันธ์ / นางสาวปัทรินทร์ นีระพล –  ข่าว / นายสมภพ ศีลบุตร – ภาพ / 21 เมษายน 2560

Tags:

TOP