รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุม และกล่าวสุนทรพจน์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือต่อหลักการแนวปฏิบัติแรงงานที่ดี GLP โดยกระทรวงแรงงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศผลักดัน พร้อมยกระดับคุณภาพแรงงานอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลไทย
Preview
Download Images
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวสุนทรพจน์เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือต่อหลักการแนวปฏิบัติแรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP) อนาคตของอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลของไทย โดยมี Mr. Mauurizio Bussi ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศไทย กัมพูชา และลาว และ Mrs. Luisa Ragher อุปทูตของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมแสดงเจตนารมณ์ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรีว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานในภาคประมง ภาครัฐ ผู้ประกอบการ แรงงาน และนักวิชาการจะได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมประมงทะเลของประเทศไทย อุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเจริญโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแปรรูปที่เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย อย่างไรก็ตามจะปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตในการทำงานในภาคประมงทะเลไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทำให้เกิดความเสี่ยงที่แรงงานจะถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นในภาคประมงของไทย จึงได้มีการร่วมมือกับทุกภาคส่วนดำเนินการอย่างเต็มความสามารถในการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องของการยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปจนถึงเรื่องของการทำงาน และตัวแรงงาน อีกทั้งรัฐบาลไทยได้ประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ในส่วนของกระทรวงแรงงานที่มีภารกิจหลังในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ของประเทศได้ดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้นโยบาย Zero Tolerance ที่มุ่งที่จะขจัดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาแรงงานต่างชาติ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงาน การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย ซึ่งแนวการปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานหรือ Good Labour Practices : GLP จะเป็นเครื่องมือและเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมงทะเลและแปรรูปอาหารทะเล ที่มีลักษณะเฉพาะของการทำงานและสภาพการจ้าง ซึ่ง GLP เป็นแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานของความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในการที่จะกำหนดหลังการและแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายเหมาะสมกับสภาพของอุตสาหกรรมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ปัจจุบันด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน การสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งหรือ Ship to Shore Rights ได้จัดทำ GLP สำหรับอุตสาหกรรมประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำขึ้น เพื่อที่จะเป็นแนวทางให้สถานประกอบการนำไปใช้ในการยกระดับแนวปฏิบัติด้านแรงงานของตน ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการแล้ว ๘๘ แห่ง จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ ๑๕๐ แห่ง นอกจากนี้ยังได้ขยายผลไปยังอุตสาหกรรมสัตว์ปีก โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น ๓,๔๓๕ แห่ง รวม ๓,๕๒๓ แห่ง ครอบคลุมการจ้างงานมากกว่า ๓๐,๐๐๐ อัตรา พร้อมเร่งรัดอีก ๕๐๐ สถานประกอบการที่เหลือภายในปีนี้ นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังมีแผนที่จะขยายผลไปยังกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสัตว์อื่นๆ อ้อย สิ่งทอ โดยจัดทำ GLP สำหรับกิจการทั่วไป เพื่อให้สถานประกอบการนำไปใช้เป็นแนวทางก้าวไปสู่การบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน คำนึงถึงสิทธิผู้ทำงาน ความรับผิดชอบต่อสังคมให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำเรื่องของทิศทางเรื่องการค้าและค่านิยมของผู้บริโภคในศตวรรษที่ ๒๑ ความได้เปรียบเรื่องของต้นทุนหรือคุณภาพสินค้าไม่ใช่เป็นปัจจัยที่จะชี้วัดถึงความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาว แต่เรื่องการปรับตัวเพื่อมุ่งสู่ความมีมาตรฐานและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อผู้ทำงาน และต่อสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความยั่งยืน และทำให้ธุรกิจสามารถที่จะเติบโตมีการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ
พลเอก ศิริชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ ๑๑ มิถุนายนที่จะถึงนี้ มีกำหนดการเดินทางไปเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลงสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ฉบับที่ ๑๑๑ ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ ค.ศ. ๑๙๕๘ (พ.ศ. ๒๕๐๑) ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นตอนหนึ่งของรัฐบาล และกระทรวงแรงงานในการลงสัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ ที่จะเกี่ยวโยงกับแก้ไขการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ ที่ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล
###################
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐
กัณติภณ คูสมิทธิ์ ข่าว
สมภพ ศีลบุตร ภาพ