Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ก.แรงงาน ยกผลงานช่วยแก้ปัญหาชาติ ‘เร่ง’ ปฏิรูปแรงงานให้เศรษฐกิจไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

pll_content_description

         รมว.แรงงาน แถลงผลงานของรัฐบาลครบรอบ 1 ปี เร่งแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ภายใต้การทำงาน กนร. เปิดจดทะเบียนต่างด้าว 3 สัญชาติเข้าสู่ระบบที่ถูกกฎหมาย ดูแลสิทธิแรงงาน บูรณาการตรวจร่วมศูนย์ PIPO พร้อมจัดชุดตรวจปฏิบัติการ (Task Force) สานสัมพันธ์ทำ MoU กลุ่มประเทศ CLMV ลดเหลื่อมล้ำเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ปฏิรูปประกันสังคมโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตั้งศูนย์ Smart Job Center แก้ปัญหาการสร้างงาน การสร้างอาชีพ  และสร้างรายได้  พร้อมเปิดบริการด้านแรงงานบนมือถือ Smart Labour Application เข้าถึงง่าย เน้นประชาชนได้ประโยชน์



Preview

Download Images

             วันนี้ (25 ธ.ค.58) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล ร่วมแถลงผลการดำเนินงานรัฐบาลรอบ 1 ปี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงผลงานกลุ่มงานด้านความมั่นคง ว่า ด้วยสภาพปัญหาด้านแรงงานของประเทศไทยที่ผ่านมาก่อนหน้านี้มีมากมายหลายด้าน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลปัจจุบันได้ร่วมกันวางแผนและกำหนดนโยบาย แนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาและเน้นบูรณาการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วนในการปฏิรูปแรงงาน 
            กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน  
ที่มีการลักลอบเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อกระบวนการค้ามนุษย์ กระทบต่อความมั่นคง  เศรษฐกิจและสังคมจิตวิทยา ปัญหาเหล่านี้ประกอบด้วย ปัญหาโครงสร้างในการบริหารจัดการ ความรับผิดชอบในการปฏิบัติกระจายไปในหลายหน่วยงาน  ปัญหาการขาดความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งออกแรงงาน ไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนรองรับ ทำให้การปฏิบัติงานขาดการบูรณาการโดยสิ้นเชิง คสช.จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) และคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (อ.กนร.)  ให้เป็นกลไกดำเนินการพิจารณาทบทวน ปรับปรุง และพัฒนาหลักเกณฑ์ใน   การบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ 
            ดำเนินการเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเพื่อให้เข้ามาสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องรวม 1.6 ล้านคน  ได้ปรับปรุงกฎกระทรวง คุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล ซึ่งห้ามใช้แรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑6 ปี เปลี่ยนเป็นไม่ต่ำกว่า 18 ปี และลูกจ้างในงานเกษตรกรรม จาก 13 ปี เป็นไม่ต่ำกว่า 15 ปี มีการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กอย่างเข้มข้น จนทำให้ประเทศไทยได้รับการปรับระดับประเมินในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กเป็นระดับที่มีความสำเร็จมากหรือระดับสูงสุด (Significant Advancement) ซึ่งมีเพียง 13 ประเทศ ที่ได้รับการประเมินสูงสุด จากจำนวน 140 ประเทศ 
            นอกจากนี้ ได้ออกกฎหมายให้จดทะเบียนแรงงานประมงใหม่ใน 22 จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดทะเล ปีละ ๒ ครั้ง ครั้งแรกมีมาจดทะเบียน 54,402 คน ครั้งที่ 2 อยู่ระหว่างการจดทะเบียน  และได้บูรณาการการตรวจร่วม ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกของเรือประมง Pi-Po (Port In – Port Out) ใน 22 จังหวัด จำนวน   28 ศูนย์ เพื่อเป็นการป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติถูกต้องมากยิ่งขึ้น พร้อมได้จัดชุดตรวจปฏิบัติการ (Task Force) ตรวจสอบการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ทั่วประเทศ ๖,๓๐๓ แห่ง และได้จัดชุดตรวจเฉพาะกิจ ตรวจสถานประกอบการ 600 แห่ง รวมถึงติดตามสิทธิประโยชน์  แรงงานไทยกรณีอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน ๑๓๗ คน ทำให้ได้รับเงินคืนกว่า ๑๒ ล้านบาทด้วย
           ทั้งนี้ ได้จัดตั้งศูนย์ One Stop Service สนับสนุนการดำเนินการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อบริหารจัดการแรงงานให้ทำงานในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาลให้ทำงาน  ได้แล้วกว่า 3,500 คน ด้านการประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ ได้จัดประชุมกลุ่มประเทศ CLMV ในการแสวงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวในฐานะเป็นประเทศส่งออกแรงงาน ขณะนี้ได้ลงนาม MoU กับเวียดนามและกัมพูชาในการนำเข้าแรงงาน และเชิญเอกอัครราชทูตในกลุ่มประเทศ CLMV มาหารือเพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวในการร่วมรับผิดชอบร่วมกัน และต่อไปประเทศไทยจะต้องไม่มีปัญหาค้ามนุษย์ และต้อง  ปราศจากการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย โดยจะปรับปรุงกฎหมายห้ามใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในกิจการ   แปรรูปสัตว์น้ำ มีการร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจข้อมูลการใช้แรงงานเด็กเพื่อให้มีฐานข้อมูลนำไปใช้แก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  รวมถึงการประสานความร่วมมือในกลุ่มประเทศ CLMV ในการจัดทำแผนระยะกลาง และระยะยาว ตลอดจนการจัดตั้งทูตแรงงานให้ครอบคลุมทุกประเทศ CLMV เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
            ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนยังไม่เหมาะสม ได้ดำเนินการแก้ไขโดยการออก พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน อาทิเช่น เพิ่มจำนวนสิทธิค่าคลอดบุตร และจำนวนบุตรที่ได้รับเงินสงเคราะห์ให้เพิ่มมากขึ้น ในกรณีผู้สูญเสียสมรรถภาพไม่ถึงร้อยละ 50 ของร่างกาย    ก็ให้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพได้ หรือกรณีทุพพลภาพก่อนวันที่ 30 มีนาคม 2538  ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 309 ราย จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพียง 15 ปี ได้ปรับเพิ่มให้ได้รับไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ ได้ขยายความคุ้มครองให้ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่มีอยู่ประมาณ 300,000 คน ทั่วประเทศ รวมทั้งลูกจ้างของนายจ้างที่ไปประจำทำงานในต่างประเทศก็ได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน 
            กระทรวงแรงงานมุ่งมั่นจะทำให้ระบบประกันสังคมเป็นองค์กรชั้นนำในภูมิภาค  โดยการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้ทำงาน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีธรรมาภิบาล เป็นที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจของนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน จะเร่งรัดการปฏิรูปกองทุนเงินทดแทน ปฏิรูประบบการให้บริการทางการแพทย์ และปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ด้านการแก้ปัญหาการสร้างงาน การสร้างอาชีพ  และสร้างรายได้  ได้เร่งขับเคลื่อนให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ลดขั้นตอนความยุ่งยาก  ความไม่สะดวก ป้องกันปัญหาที่นำไปสู่การหลอกลวงและเป็นช่องทางทุจริต โดยจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย หรือ Smart Job Center เพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียวได้รับบริการทุกด้าน   มีประชาชนได้รับการบรรจุงานแล้วกว่า ๑๔,200 คน สามารถหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวกว่า ๑๒๗  ล้านบาทต่อเดือน และจะขยาย Smart Job Center ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาแรงงานขาดทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ห่วงใยพี่น้องประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) โดยฝึกไปแล้วกว่า 77,000 คน  นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพแรงงานในสถานประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน ๒๖๐ แห่ง 
            กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ลดปัญหาประชาชน
ขาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแรงงาน จึงได้พัฒนา Smart Labour Application ตอบสนองความต้องการของคนทำงานในยุคดิจิทัล ให้เข้าถึงบริการด้านแรงงานที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และกำลังพัฒนาให้ Matching ตำแหน่งงานระหว่างผู้หางานกับนายจ้าง ตรวจสอบสถานะผู้ประกันตน และสามารถสมัครงานได้ด้วย พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ ตรวจสอบ Demand & Supply สนับสนุนให้ผู้จบการศึกษามีงานทำตรงความต้องการของตลาดแรงงาน มีรายได้ตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 
 
—————————————
“OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER TOGETHER”
“เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะที่นี่คือ บ้านของเรา ประเทศไทยของเรา”
 
ขอขอบคุณที่เผยแพร่ข่าวนี้/
พุทธชาติ อินทร์สวา – ข่าว/ สมภพ ศีลบุตร – ภาพ

Tags:

TOP