Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ก.แรงงาน หารือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไก่ส่งออก แจงไทยมีมาตรฐานการดูแล ‘สิทธิแรงงาน’ ไม่เอาเปรียบต่างด้าว

pll_content_description

รมว.แรงงาน เชิญสมาคมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไก่เพื่อส่งออกไทย หารือ กรณีสื่อนอกกล่าวหาเอาเปรียบต่างด้าว พบอุปสรรคทางการสื่อสารสร้างความเข้าใจผิด แจงไทยมีมาตรฐานการดูแล ‘สิทธิแรงงาน’ ไม่แตกต่างลูกจ้างไทย บนพื้นฐานที่กฎหมายกำหนด พร้อมทำแผนจัดจนท.ตรวจเข้ม แนะนายจ้างใช้ GLP ในการจ้างงาน 



Preview

Download Images

พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และผู้แทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไก่เพื่อการส่งออก กรณีสื่อต่างชาติเผยแพร่ข่าวประเทศไทยมีการเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว และมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อร่วมกันชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง รวมถึงร่วมกันหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท สหฟาร์ม จำกัด บริษัท แหลมทองสหการ จำกัด บริษัท เบทาโกร จำกัด บริษัท ไก่สดเซนทาโกร จำกัด และบริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด รวม 6 บริษัท ณ ห้องประชุม Executive room ชั้น ๕ กระทรวงแรงงาน
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า กระทรวงแรงงานได้ตรวจสอบข้อร้องเรียนของแรงงานโดยเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานแล้ว ไม่พบว่าผู้ประกอบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานกำหนด แต่การติดต่อสื่อสารระหว่างลูกจ้างกับฝ่ายจัดการ อาจทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันเพราะใช้ภาษาต่างกัน เช่นกรณี การต่ออายุใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว ทางผู้ประกอบการจะช่วยอำนวยความสะดวกจึงต้องนำบัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทางของลูกจ้างไปติดต่อกับทางราชการหลายวัน ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างเข้าใจว่าถูกนายจ้างยึดเอกสารไว้ หรือในกรณีการหักเงินสมทบ 5 % ส่งกองทุนประกันสังคม การใช้สิทธิจะเกิดขึ้นได้เมื่อจ่ายเงินครบ 3 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม นายจ้างมีการดูแลการเจ็บป่วยของลูกจ้างอย่างใกล้ชิด แม้จะยังไม่มีสิทธิทางประกันสังคม 
 
ทั้งนี้ ผู้แทนผู้ประกอบการ ต่างกล่าวยืนยันว่าในกระบวนการส่งออกสินค้านั้นถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากคู่ค้า ทำให้ต้องปฏิบัติตามแนวมาตรฐานจรรยาบรรณ(Code of conduct) ที่ลูกค้ากำหนด และที่สำคัญขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องดูแลและเอาใจใส่ต่อลูกจ้างต่างด้าวเป็นอย่างดี ไม่มีความแตกต่างจากลูกจ้างไทย การนำเข้าแรงงานต่างด้าวผ่านระบบ MoU และเป็นลูกจ้างตรงของผู้ประกอบการ ไม่มีการจ้างเหมาช่วงอยู่ในสายการผลิต การดูแลสิทธิแรงงานจึงอยู่บนพื้นฐานมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 
 
สำหรับการหารือในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มีข้อสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมการจัดหางาน ให้จัดแผนตรวจอย่างเข้มข้นในอุตสาหกรรมส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ รวมทั้งจะได้มีการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมใช้แนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) ในการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นความพร้อมใจของสถานประกอบการ เพื่อรับรองตนเองว่าไม่ใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ บนพื้นฐานของกฎหมายแรงงานไทย มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ พร้อมแนะการบริหารจัดการด้านการสื่อสาร ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจเนื่องจากความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรมของแรงงานต่างด้าว
 
———————————–
 
“OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER TOGETHER”
“เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะที่นี่คือ บ้านของเรา ประเทศไทยของเรา”

Tags:

TOP