‘ที่ปรึกษารัฐมนตรีแรงงาน’ ชี้ผลกระทบเทียร์ 3 ไทยสูญเสียมูลค่าส่งออกสินค้าประมงร้อยละ 20 ประชาชน ผู้ประกอบการเดือดร้อน เสียผลประโยชน์ชาติ พบประชาชนรู้สึกห่างกับปัญหาการค้ามนุษย์แนะ สังคมไทยต้องตระหนักและตื่นตัว ด้าน‘รองปลัดแรงงาน’เผยผลตรวจการทำงานของคนต่างด้าววันที่ 9-15 มกราคม 58 ตามคำสั่ง คสช.ที่ 100 ดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการ 10 ราย ต่างด้าว 94 คนและ คำสั่ง คสช. 101 ดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการ 10 ราย ต่างด้าว 44 คน ผลตรวจแรงงานประมงทะเล 162 แห่ง เรือ 414 ลำ ลูกจ้าง 1,936 คน ยังไม่พบกระทำผิดกฎหมาย
ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า ในขณะนี้กระทรวงแรงงานมีการออกตรวจแรงงานประมงทะเลทุกวัน และรายงานสรุปทุกสัปดาห์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการป้องกันและลดทอนความเหลื่อมล้ำของประชาชน เช่น มาตรการการกีดกันทางการค้า หากเราไม่สามารถหลุดพ้นจากสถานะการจัดอันดับเทียร์ 3 ผลกระทบที่ตามมาคือมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังสหรัฐอเมริกาและอียูจะได้รับผลกระทบเกินกว่าร้อยละ 20 หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแน่นอนว่าความเดือดร้อนจะส่งผลไปยังประชาชน ผู้ประกอบการ และผลประโยชน์ชาติ ทั้งนี้เพื่อความตระหนักในความเดือดร้อนดังกล่าวรัฐบาลและกระทรวงแรงงานจึงได้ให้มีการปฏิบัติการตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2557
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อค้นพบในการพิจารณาเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการค้ามนุษย์ คือ สังคมไทยต้องตื่นตัว ต้องตระหนักถึงปัญหาการค้ามนุษย์ ประชาชนคนไทยน่าจะออกมาร่วมต่อต้านการค้ามนุษย์ แต่ตัวชี้วัดที่ค้นพบเรื่องดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น คนไทยยังรู้สึกห่างกับปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้น การกีดกันทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน ความตระหนักของประชาชนในเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์จะช่วยเป็นแรงเสริมให้เราหลุดพ้นจากการถูกจัดอันดับเทียร์ 3 ดังนั้นรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงเร่งรัด เข้มข้นต่อการทำงานของทุกหน่วยปฏิบัติของหน่วยงานกระทรวงแรงงาน รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย จึงเห็นภาพการทำงานร่วมกันในการลงพื้นที่ตรวจแรงงาน เนื่องจากมีกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลในยุครัฐบาลชุดปัจจุบัน
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผลงานสำคัญการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ในช่วงการตรวจป้องกันและบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะในเรื่องของแรงงานต่างด้าวและแรงงานประมงทะเล ซึ่งผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 9 -15 มกราคมที่ผ่านมาพบว่า ชุดปฏิบัติการตามคำสั่ง คสช.ที่ 100 เน้นการตรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นหัวหน้าชุด และหลายหน่วยงานเข้าร่วมตรวจแบบบูรณาการ อาทิ กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรุงเทพมหานคร ทหาร ตำรวจ มีการตรวจสอบการทำงานของสถานประกอบการ 20 ราย ตรวจแรงงานต่างด้าว 5,325 คน ดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการ 10 ราย แรงงานต่างด้าว 94 คน แยกเป็นเมียนมา 19 คน กัมพูชา 72 คน และสัญชาติอื่นๆ เวียดนาม บังกลาเทศ รวม 3 คน และคำสั่ง คสช.ที่ 101 เน้นการตรวจในพื้นที่ต่างจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 9 – 15 ม.ค.58 มีการตรวจสอบการทำงานของสถานประกอบการ 108 แห่ง ตรวจแรงงานต่างด้าว 1,407 คน ดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการ 10 ราย แรงานต่างด้าว 44 คน แยกเป็นเมียนมา 8 คน ลาว 2 คน กัมพูชา 15 คน และสัญชาติอื่นๆ เวียดนาม บังกลาเทศ รวม 2 คน
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ส่วนผลการตรวจแรงงานประมงทะเล ซึ่งเป็นการตรวจ
ที่มุ่งเน้นเรื่องการค้ามนุษย์เพื่อลดการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานและลดความเสี่ยงไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นเจ้าภาพหลักเรื่องการตรวจแรงงานประมงทะเล โอกาสนี้มีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานร่วมลงพื้นที่ตรวจด้วย เป็นการตรวจแบบบูรณาการสหวิชาชีพใน 22 จังหวัดติดชายฝั่งทะเล ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรวจสถานประกอบกิจการ 112 แห่ง ลูกจ้าง 1,735 คน ตรวจสถานประกอบกิจการเจ้าของเรือประมงทะเล 162 แห่ง เรือ 414 ลำ ลูกจ้าง 1,936 คน ผลการตรวจพบว่า ยังไม่มีการดำเนินการในลักษณะเข้าข่ายการกระทำความผิด นอกจากนั้นมีการประชุมชี้แจงกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานประมงทะเลที่ออกมาใหม่ให้แก่ลูกจ้าง/นายจ้างในกิจการประมงทะเล 736 แห่ง มีลูกจ้างเข้ามาร่วมรับฟัง 4,620 คน ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบว่าการฝ่าฝืนให้ความร่วมมือ กำลังรอเรื่องการทำสัญญาจ้างแรงงานประมงทะเลอยู่ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเมียนมา ลาว กัมพูชา ซึ่งการทำสัญญาจ้างจะนำไปสู่การดำเนินคดี เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาลูกจ้างมักจำชื่อเรือไม่ได้ มีกติกาการคุ้มครองอย่างไร ดังนั้นต่อไปการจัดระเบียบการคุ้มครองแรงงานประมงทะเลสามารถนำไปสู่การคุ้มครองและดำเนินคดีด้านแรงงานได้ เอกสารสัญญาจ้างดังกล่าวจะเก็บไว้ที่นายจ้างและลูกจ้าง จึงเป็นที่ยอมรับและรักษามาตรฐานส่วนหนึ่ง
“ผลสัมฤทธิ์ในการตรวจหวังเพียงว่าจะลดความเสี่ยงในการนำไปสู่การค้ามนุษย์ได้ 60 % แล้วค่อยเพิ่มดีกรีขึ้นไปเรื่อยๆ หวังว่ากฎหมายใหม่จะเตรียมความพร้อมมากขึ้นในการบังคับใช้แรงงานประมง
ส่วนแรงงานต่างด้าวจะเพิ่มความเข้มข้นและความถี่ในการตรวจมากขึ้น” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
—————————–
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว /
ณัฐจารี เกตุแก้ว – ภาพ/
21 มกราคม 2558