นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่สื่อได้นำเสนอกรณี ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กลาง พิพากษาจำคุก 49 กระทง 245 ปี อดีตรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานฮั้วประมูลสมยอมราคาเอกชนนั้น กระทรวงแรงงานขอชี้แจงรายละเอียดของการดำเนินการในฐานะหน่วยงานของรัฐต่อข้าราชการที่กระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กล่าวคือ คดีทุจริตของข้าราชการตามที่เป็นข่าว เป็นคดีทุจริตในการจัดซื้อต้นไม้เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ของสถาบันและศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ในช่วงปี 2542 – 2545 ประมาณ 60 กว่าสัญญา วงเงินรวมประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้พิจารณาลงโทษทางวินัยโดยการไล่ออก และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดไปเรียบร้อยแล้ว และได้มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องชดใช้ค่าเสียหายรวมกัน ประมาณ 80 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่กรมบัญชีกลางให้ความเห็น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสืบทรัพย์เพื่อทำการยึดทรัพย์บังคับคดีต่อไป ทั้งนี้ในกรณีนี้ กฎหมายให้ส่วนราชการสามารถดำเนินการโดยใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ภายใต้กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่โดยไม่ต้องดำเนินการในส่วนของคดีแพ่งแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เรื่องทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นเรื่องที่ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญอย่างยิ่งและเน้นย้ำต่อข้าราชการอยู่เสมอในการมอบนโยบายทุกครั้งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้ประพฤติปฏิบัติอย่างเข้มงวดและจริงจัง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้กำหนดมาตรการ Zero Corruption ให้เป็น 1 ในวาระปฏิรูปเร่งด่วน 8+1 ที่มีกรอบดำเนินการตั้งแต่ 2560-2564 มียุทธศาสตร์ดำเนินการประกอบด้วย 1) การกำหนดทิศทางการดำเนินงานและการขับเคลื่อน โดยจัดทำแผนปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ภายใต้กรอบ MOU กับ ป.ป.ช. 2) การเสริมสร้างกลไกการป้องกันให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ อาทิ การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการบริหารจัดการการเงิน การคลัง ภายในส่วนราชการ การสร้างและพัฒนาประสิทธิภาพระบบการรับ-จ่ายเงิน / ค่าธรรมเนียมต่างๆผ่านธนาคาร หน่วยบริการที่เป็นตัวแทนระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 3) เสริมสร้างบุคลากรให้มีธรรมาภิบาลเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดทุจริต โดยการเสริมสร้างจิตสำนึก ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม วินัย และธรรมาภิบาลสำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ รวมถึงปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกโดยเคร่งครัด 4) การสร้างและพัฒนาเครือข่ายแรงงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้กระจายในทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ โดยที่การดำเนินงานทั้งหมดจะมีการติดตามประเมินผล ตามโครงการประเมินระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน ตามกรอบการประเมินเป็นระยะ
“สำหรับกรณีการทุจริตตามที่เป็นข่าว กระทรวงแรงงานได้กำชับและกวดขันข้าราชการให้ประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดในทุกกรณี นับแต่เกิดคดีดังกล่าวขึ้น ซึ่งผลจากการพิพากษาครั้งนี้ เป็นบทเรียนที่ข้าราชการต้องตระหนักต่อการปฏิบัติหน้าที่อยู่เสมอ” โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด