Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

‘จี้’ ใครใช้หรือจ้างเด็กในทางที่ผิดเป็น ‘คนเลว’

pll_content_description

         รมว.แรงงาน ใช้กระแสสังคม ‘จี้’ ใครที่ใช้หรือจ้างเด็กในทางที่ผิดเป็นคนที่เลวร้าย ย้ำต้องสร้างจิตสำนึกนายจ้าง ผู้ปกครอง เด็กและเจ้าหน้าที่รัฐ ช่วยลดปัญหา ประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายนัดแรก  ‘ถก’ แผนงานขับเคลื่อนการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย
 



Preview

Download Images
            พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ได้กล่าวว่า ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นผลให้มีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของอนุสัญญาดังกล่าว ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มีคำสั่งที่ 138/2558 แต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 โดยมีนางสายสุรี จุติกุล เป็นที่ปรึกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน เพื่อทดแทนคณะกรรมการฯชุดเดิมที่สิ้นสุดลง ครั้งนี้จึงเป็นการประชุมครั้งแรก ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องการดำเนินการสำรวจสถานการณ์เด็กทำงานในกิจการผลิตสินค้ากุ้ง เครื่องนุ่งห่ม อ้อย และปลา เนื่องจากมีประเด็นปัญหาการใช้แรงงานเด็กที่ประเทศสหรัฐ ระบุว่ามีสินค้าของไทยผลิตจากการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์สินค้าไทยในตลาดโลก และมีข้อเสนอแนะให้ไทยดำเนินการสำรวจข้อมูลการทำงานของเด็กเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
            ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา ร่างนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ 2558-2563 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยปลอดจากการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563” โดยให้นิยามเด็กว่า คือ บุคคลทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี พร้อมเสนอร่างแผนปฏิบัติการ (Action plan) ตามประเด็นยุทธศาสตร์ 5 ด้าน แต่ยังมีบางประเด็นขาดความสมบูรณ์ของข้อมูล และบางประเด็นต้องตรวจสอบความชัดเจน ประธานที่ประชุม จึงมอบให้ฝ่ายเลขาฯ รับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ไปปรับปรุงและแก้ไขร่างแผนดังกล่าวฯ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป 
             “เรื่องเด็ก เป็นเรื่องสำคัญของชาติ บ้านเมือง ความสำเร็จของการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย นั้นต้องกลับมาที่การสร้างจิตสำนึก รณรงค์โดยการใช้บุคคลหรือเจ้าหน้าที่ หรือผ่านสื่อให้ช่วยเป็นตัวสร้างกระแสในสังคม ใครที่ใช้หรือจ้างเด็กในทางที่ผิดเป็นคนที่เลวร้าย เราจำเป็นต้องรณรงค์สร้างจิตสำนึกของนายจ้าง ไม่ให้ใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนที่สองเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ผู้ปกครอง ไม่ให้ยินดีในการนำลูกมาทำในสิ่งที่ผิด ส่วนที่สามคือการสร้างจิตสำนึกในเด็ก และส่วนที่สี่ต้องสร้างจิตสำนึกของข้าราชการ ที่ต้องทำงานอย่างมุ่งมั่น สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกคนต้องไม่ละเลยต่อสิ่งที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ที่รับผิดชอบของตนเอง ถ้ารณรงค์ได้ใน 4 กลุ่มเป้าหมายเต็มที่ ยิ่งโดยเฉพาะนายจ้าง อาจจะทำให้งานทุเลาลงมาก ประการที่สองคือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะเป็นมาตรการตัวสุดท้ายที่นำมาใช้ เป้าหมายจึงอยู่ที่จิตสำนึกของคนสำคัญที่สุด”  รมว.แรงงาน กล่าวสรุปท้าย

………………………………………

Tags:

TOP