Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ชู 4 แนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคม เปิดเผย ตรวจสอบ พึงพอใจ บริหารมืออาชีพ

pll_content_description

  รมว.แรงงาน ปาฐกถาพิเศษ ‘ประกันสังคมพร้อมเปลี่ยนแปลงสู่ทศวรรษหน้าปฏิรูปอย่างไรจึงโดนใจผู้ประกันตน’ชู 4 แนวทาง คือ เปิดเผยสาธารณชน ให้องค์กรอิสระและภาคประชาชนตรวจสอบ สำรวจความพึงพอใจผู้ประกันตน และปรับโครงสร้างให้ สปส.อำนวยการ บริหารกองทุนแบบมืออาชีพ ด้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เผย ทุกอย่างต้องตรวจสอบเผยแพร่ได้ การประชาสัมพันธ์ต้องเข้าถึงผู้ประกันตน เพิ่มสิทธิประโยชน์ ปรับเพดานเงินเดือนเพิ่มเงินเข้ากองทุน ฯลฯ ด้านนักวิชาการทีดีอาร์ไอ แนะ 5 ปัจจัยเป็นเงื่อนไขความอยู่รอดของกองทุนฯ ในอนาคต



Preview

Download Images

                   พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “25 ปีประกันสังคมพร้อมเปลี่ยนแปลงสู่ทศวรรษหน้าปฏิรูปอย่างไรจึงโดนใจผู้ประกันตน” ณ ห้องประชุม ชั้น 7 อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 กระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสำนักงานประกันสังคมมา 25 ปี มีการพัฒนาด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งกองทุนประกันสังคมมีเงิน 1.22 ล้านล้านบาท และกองทุนเงินทดแทน 4 หมื่นกว่าล้านบาท วันนี้พร้อมเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม การปฏิรูปกองทุนประกันสังคมนั้น จะต้องดำเนินการ 4 เรื่องสำคัญ คือ 1)ต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการต่อสาธารณะ ซึ่งต้องทำเลย ทำทันที ทำเดี๋ยวนี้เป็นจุดเริ่มต้น 2) ต้องเพิ่มองค์กรตรวจสอบมีความเข้มแข็งทั้งจากผู้ตรวจสอบอิสระในระบบการเงินที่เป็นมาตรฐานสากลและการตรวจสอบจากภาคประชาชน 3)ให้มีการสำรวจความพึงพอใจของผู้ประกันตนอย่างสม่ำเสมอเพื่อจะปรับปรุงคุณภาพ และ 4)ปรับปรุงโครงสร้างของกองทุนประกันสังคม โดยมีแนวทางให้สำนักงานประกันสังคมซึ่งเป็นส่วนราชการในการกำกับดูแล กระทรวงแรงงานจะอำนวยการกำกับ แต่กองทุนจะต้องบริหารแบบมืออาชีพเนื่องจากเป็นกองทุนขนาดใหญ่ สำหรับนโยบายของนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องการให้โปร่งใสและคืนความสุขให้คนไทย ส่วนรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงต้องการให้ตอบทุกคำถามของสังคมได้ ขณะที่นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนั้นทุกอย่างต้องเปิดเผยได้ ให้ตรวจสอบ เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนและบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ สำหรับปลัดกระทรวงแรงงานจะอำนวยการและกำกับดูแล ทั้งนี้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมจะต้องดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ อย่างไรก็ตามภาพในอนาคตของกองทุนประกันสังคมที่ทุกคนอยากเห็นหรืออยากให้เป็น คือ อยากได้รับการบริการที่ดี มีการดูแลเอาใจใส่ อยากให้การบริหารกองทุนโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความมั่นคงยั่งยืนที่ผู้ประกันตนพึ่งพิงได้อย่างแท้จริง อยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม รับรู้ ร่วมเสนอแนะและร่วมเป็นเจ้าของกองทุน อยากให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนเป็นเหมือนญาติ
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การปฏิรูปกองทุนประกันสังคมนั้น จะต้องดำเนินการ 4 เรื่องสำคัญ คือ ต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการต่อสาธารณะ สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรตรวจสอบทั้งองค์กรอิสระและภาคประชาสังคม สำรวจความพึงพอใจของผู้ประกันตนอย่างสม่ำเสมอ และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารไปสู่อนาคต ทั้ง 4 เรื่องดังกล่าวต้องทำเดี๋ยวนี้ ทำทันที ทำต่อไป อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมจะต้องเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการทั้งปวงต่อสาธารณะ จัดให้มีองค์กรอิสระอย่างมืออาชีพและภาคประชาสังคมเป็นผู้ตรวจสอบที่นอกเหนือจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และจัดให้มีการสำรวจความพึงพอใจของผู้ประกันตนอย่างสม่ำเสมอ และปลัดกระทรวงแรงงานจะปรับปรุงคณะกรรมการและอนุกรรมการให้มีคุณภาพ พร้อมทั้งปฏิรูปโครงสร้างการบริหารไปสู่อนาคต ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะอำนวยการ โดยที่สำนักงานประกันสังคมจะกำกับดูแลให้กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนมีการบริหารแบบมืออาชีพ ภายใต้การตรวจสอบได้จากองค์กรอิสระและภาคประชาชน
              นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวว่า การดำเนินการของกองทุนประกันสังคมต้องมีส่วนร่วมจากนายจ้างและลูกจ้าง ทุกอย่างต้องมีการตรวจสอบและเปิดเผยให้สื่อมวลชนสามารถเข้ารับฟังได้ 
การประชาสัมพันธ์ต้องทั่วถึงและตอบสนองผู้ประกันตนทั้งเรื่องของสิทธิประโยชน์ โครงสร้างประกันสังคม 
              นายมนัส โกศล กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมต้องทำงานเชิงรุก เนื่องจากสังคมเปลี่ยนแปลง สถานประกอบการ ผู้ประกันตนมากขึ้น ผู้บริหารกองทุนต้องทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่ผ่านมาผู้ประกันตนไม่มีช่องทางในการเข้าไปตรวจสอบกองทุนฯ การเปิดเผยข้อมูลมีเพียงรายงานประจำปีเท่านั้น ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างไม่มีสิทธิ์เข้าไปรับรู้รับทราบข้อมูลของกองทุนฯ
               นายชินโชติ แสงสังข์ กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเข้าไม่ถึงผู้ประกันตน สื่อที่ใช้เผยแพร่บางสื่อไม่ตอบโจทย์ ทั้งนี้ต้องมีองค์กรเข้ามาตรวจสอบอย่างเข้มแข็งและแน่นหนา ส่วนตนนั้นเห็นด้วยกับแนวทางของ รมว.แรงงานที่ต้องการปฏิรูปไปสู่อนาคตและโดนใจผู้ประกันตน รวมทั้งยึดถือผู้ประกันตนเป็น
ตัวตั้งในการปฏิรูป
               ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เงื่อนไขความอยู่รอดของกองทุนประกันสังคมในอนาคต จะต้องคำนึงถึง ความยืดยาวของผู้ประกันตน ฐานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวณ สัดส่วนผู้ประกันตนบำนาญชราภาพ สัดส่วนในการลงทุน และการใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการ เพราะต้องมองถึงอนาคตของกองทุนในอีก 15 – 20 ปีข้างหน้า
               นายบุญยืน สุขใหม่ กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมต้องมีความอิสระปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพราะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายและทิศทางการดำเนินงานก็เปลี่ยนไปด้วย ควรแยกการบริหารกองทุนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ของคนไทยและแรงงานข้ามชาติออกจากกันอย่างชัดเจน ควรปรับเพดานเงินเดือนการเก็บเงินสมทบเพื่อนำเข้ากองทุนได้มากขึ้น คณะกรรมการที่ตรวจสอบต้องมาจากทุกภาคส่วนในสังคม การเผยแพร่ข่าวสารการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกันตนต้องเป็นปัจจุบัน ขณะเดียวกันอยากเห็นโรงพยาบาลของประกันสังคมที่จะสามารถเป็นศูนย์อาชีวเวชศาสตร์และศูนย์วิจัยโรคจากการทำงานรองรับการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนได้
               ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การบริหารกองทุนประกันสังคมให้ผู้ประกันตนและนายจ้างพึงพอใจสูงสุด ขณะเดียวกันต้องบริหารจัดการได้ด้วย ตัวแปรที่สำคัญ คือ การพยากรณ์ตัวเลขผู้รับบำนาญมีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด ทางออกที่สำคัญเราต้องลดทอนการไหลออกของเม็ดเงิน ถ้าวันนี้ทุกคนเรียกร้องเพียงอย่างเดียว อนาคตเราจะไม่เหลืออะไรให้ลูกหลาน ฉะนั้นเราต้องเสียสละให้ลูกหลานโดยการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อสร้างความมั่นคงให้กองทุน หาผลตอบแทนที่คุ้มค่าคุ้มทุน แหล่งใดที่มั่นคงจะต้องกระจายความเสี่ยงออกไป ส่วนการเพิ่มฐานมากขึ้นจะทำให้กองทุนสั่นคลอนเรื่อยๆ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ เราต้องเสียสละโดยการสร้างให้ลูกหลาน สร้างผลประโยชน์ชาติรักษาไว้ให้มั่นคง
              นอกจากนี้ยังมีข้อคิดเห็นและแนวทางข้อเสนอจากหลายท่านของเวทีเสวนาดังกล่าวในประเด็นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปกองทุนประกันสังคม อาทิ ควรปรับปรุงคู่มือสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ขยายเวลาการรับสมัครมาตรา 40 สำหรับผู้สูงอายุจากเดิม 1 ปีเป็น 3 ปี ให้มีวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังโดยคณะกรรมการแต่ละชุดควรจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในลักษณะเหมือนเวทีครั้งนี้เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนามาตรฐานต่อไป
———————————
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
19 พฤศจิกายน 2557

Tags:

TOP