นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนประเทศไทย ร่วมประชุม The SeaWeb Seafood Summit ณ ประเทศมอลตา ระหว่าง 1-3 ก.พ. 59 พร้อมด้วย ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง, Mr. Steve Trent ผู้อำนวยการ EJF (มูลนิธิยุติธรรมและสิ่งแวดล้อม) และ Mr.Ally Dingwall เจ้าของธุรกิจ Sainburi’s ประเทศสหราชอาณาจักร
โดยวันที่ 2 ก.พ. 59 เป็นการอภิปราย เรื่อง Spotlight : Securing Ethical and Sustainable Thai Seafood Supply Chains ซึ่งได้ให้ความสำคัญของอาหารทะเลและแหล่งผลิตอาหารเพื่อนำมาหล่อเลี้ยงประชากรของโลก รวมทั้งกระบวนการทำงานกว่าจะมาเป็นอาหารสู่ผู้บริโภค ที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตส่งออกอาหารทะเลที่สำคัญของโลก พบว่า ในอดีตที่ผ่านมา ความได้เปรียบของประเทศไทยมีผลมาจากการกระทบที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้อื่น พร้อมทั้งได้ นำเสนอวีดีโอ Thailand ‘s Seafood Slaves ซึ่งจัดทำโดย EJF เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานในกิจการประมงทะเลของไทย เป็นปัญหาที่ประเทศไทยต้องแก้ไขทั้งเรื่องการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และแรงงานบังคับ (Forced Labour)
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงปัญหาของประเทศไทยที่เกิดขึ้นและสั่งสมกันมาเป็นเวลายาวนาน ดังนั้นรัฐบาลไทยโดย นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน เพื่อวางระบบการขจัดปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งในส่วนของ IUU และ Forced Labour โดยการปฏิรูปกลไกควบคุมการบริหารจัดการประมงของไทย รวมถึงการจัดระบบบริหารแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ด้วยการออกกฎหมายใหม่และบูรณาการจัดตั้งหน่วยงานขึ้น มารับผิดชอบโดยตรง คำนึงถึงความรับผิดชอบของประเทศไทยต่อสิ่งแวดล้อมและประชาคมโลกซึ่งรัฐบาลได้ร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน องค์กรภาคเอกชนและภาคประชาสังคม NGOs ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ในฐานะผู้ปฏิบัติ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานของไทย IUU และแรงงานบังคับ โดยได้มีการออก พรก.ประมง การลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวการตามMOU และการจดทะเบียนแรงงานประมง การบังคับใช้ พรก.ประมงอย่างเคร่งครัด การตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปของไทยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อสร้างความสมดุลย์ให้กับสภาพแวดล้อมของทรัพยากรธรรมชาติในทะเล ทั้งย้ำว่าประเทศไทย มีการประกาศใช้ พรก.ประมง เมื่อปลายปี 2015 รัฐบาลมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวดจริงจัง ซึ่งระยะแรกระหว่างบังคับใช้ต้องมีการปรับตัว 6 เดือนถึง1ปี เมื่อเข้าสู่ระบบแล้วผู้ประกอบการจะปฎิบัติตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยภาครัฐจะมีทีมสหวิชาชีพในการตรวจติดตามการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด โดยได้เน้นย้ำ คำยืนยันของประเทศไทยต่อประชาคมโลก ว่าการทำงาน เพื่อปลูกสร้างจิตสำนึกของจริยธรรมความยั่งยืนของวงจรอาหารจากประเทศไทยนั้น มุ่งมั่นทำไปเพื่อประชากรในอนาคตของโลก ทั้งนี้ Mr. Steve Trent ขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกับประเทศไทย โดย กล่าวคำสรุปทิ้งท้ายว่า Don’t boycott Thailand but we must work together with Thailand.