Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

นายกฯ เปิดเวทีกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง CLMTV เน้น ดูแลแรงงานทุกกลุ่ม ทุกมิติ ย้ำ ภูมิภาคมั่นคง แรงงานผาสุก

pll_content_description

      นายกรัฐมนตรี เปิดการประชุมความร่วมมือเชิงวิชาการด้านแรงงานระดับรัฐมนตรีกับประเทศเพื่อนบ้านลุ่มน้ำโขง เผย ดูแลแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งเข้าทำงานแบบเช้ามา – เย็นกลับ แรงงานตามฤดูกาล และแรงงานรายปี พร้อมฝากแนวทางความร่วมมือด้านแรงงาน ทั้งยกระดับพัฒนาฝีมือรองรับการเติบโตเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ แนะแรงงานเรียนรู้ภาษาพัฒนาฝีมือก้าวสู่หัวหน้างาน เข้มบริษัทจัดหางาน การโยกย้ายถิ่นฐานต้องไม่ให้มีการค้ามนุษย์เด็ดขาด เร่งพิสูจน์สัญชาติ พร้อมร่วมมือขับเคลื่อนด้านแรงงานทุกมิติรับประชาคมอาเซียน




Preview

Download Images

       พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมความร่วมมือเชิงวิชาการด้านแรงงานระดับรัฐมนตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน (Ministerial Conference on Labour Cooperation in CLMTV ) ณ โรงแรมดุสิตธานี โดยกล่าวว่า การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและการศึกษาในประเทศลุ่มน้ำโขง ดังนั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะเจริญเติบโตไปนั้นจะต้องนำพากลุ่มประเทศต่างๆในภูมิภาคไปด้วย เพราะเราคือเพื่อนกันไม่มีใครนำใคร แต่เราจะเดินไปพร้อมกัน ซึ่งประเทศกลุ่ม CLMTV จะมีความสำคัญในด้านการผลิตอาหาร ทำอย่างไรให้สิ่งของเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น เนื่องจากเราเป็นแหล่งอาหารของโลก แม้โลกมีการเปลี่ยนแปลงแต่ทำอย่างไรให้เราต้องร่วมมือกันให้ได้ แรงงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งการหลอกลวงจะต้องไม่เกิดขึ้น และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศลุ่มน้ำโขงมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางอยู่แล้วที่จะเชื่อมโยงไปด้วยกันในทุกๆ ด้าน เช่น   การเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำงานเฉพาะเรื่องของไทยแต่จะทำงานร่วมกันทั้งกลุ่ม 
       การประชุมดังกล่าวถือว่าเหมาะสมทันกับสถานการณ์และกระแสโลก เพื่อให้ประเทศลุ่มน้ำโขงทำอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งนี้จากสถิติถือว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้รับแรงงานต่างชาติเข้ามามากสุด แม้ว่าในอนาคตอาจเกิดปัญหาเนื่องจากแต่ละประเทศต้องการแรงงานสูงขึ้น ส่วนการพัฒนากำลังคนต้องพัฒนาให้สูงขึ้นทั้งประเทศต้นทางและปลายทางต้องร่วมมือกันที่จะทำอย่างไร ให้ทั้ง 5 ประเทศมีความเข้มแข็ง ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงแรงงานทุกกลุ่มทั้งแรงงานที่เข้ามาทำงานแบบเช้าไป – เย็นกลับ แรงงานตามฤดูกาลที่ต้องขอให้เข้ามาตามช่องทางที่ถูกกฎหมายและแรงงานรายปีที่ต้องดูแลการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง ทั้งนี้ต้องมองถึงความมั่นคงของประเทศด้วยเนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไป – มาซึ่งต้องดูแลแรงงานทุกกลุ่มมิฉะนั้นภาระจะตกเป็นของความมั่นคงฝ่ายเดียว
       นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานนั้นเพื่อรองรับการเติบโตในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จะต้องมีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือให้กับแรงงานไทยและเมียนมา ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการเข้าไปพัฒนาทักษะฝีมือในสถานประกอบการ และจะขยายไปให้ครอบคลุมทุกเขตพื้นที่เศรษฐกิจที่มีชายแดนติดกันทั้งนี้แต่ละประเทศต้องสร้างแรงงานมีฝีมือให้สามารถเป็นหัวหน้างานได้ การเรียนรู้ภาษาซึ่งกันและกันของแต่ละประเทศ โดยเรียนรู้ 2-3 ภาษาเพื่ออยู่ในสังคมเหล่านั้นได้ การโยกย้ายถิ่นฐานแรงงาน ซึ่งบริษัทจัดหางานต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐาน การหลอกลวงคนงาน ไม่ให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์โดยเด็ดขาด นอกจากนี้แต่ละประเทศต้องเร่งการพิสูจน์สัญชาติ ส่วนความร่วมมือทางด้านแรงงานในทุกมิติ ต้องทำเป็นข้อมูลเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนต้องเร็วที่สุด อะไรที่ทำได้พร้อมกันก็ให้ทำได้เลย เช่น ความร่วมมือตามข้อตกลงร่วมกันของประเทศลุ่มน้ำโขง ขณะที่ความต่อเนื่องในการประชุมและความร่วมมือดังกล่าวนั้นขอให้เป็นไปในทุกปี ซึ่งรัฐบาลไทยจะสนับสนุนเพื่อให้การทำงานมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ เกิดผลตามที่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าประชาชนจะได้อะไรบ้าง และให้เห็นว่าจะทำอะไรในแต่ละเรื่องให้แรงงานไทย
       “เราต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทำทุกอย่างให้เกิดความเท่าเทียม โดยใช้กฎหมายลดการทุจริตคอรัปชั่นทุกมิติ ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นปัญหามาโดยตลอด แต่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของประเทศลุ่มน้ำโขง จะก้าวไปสู่ผลประโยชน์ชาติที่เท่าเทียมกัน ทั้งความมั่นคงของภูมิภาคและความผาสุกของประชาชนในประเทศลุ่มน้ำโขง “นายกรัฐมนตรี กล่าว 

 
———————–
 
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร-ภาพ/
4 กันยายน 2558

Tags:

TOP