รมว.แรงงาน เผย แรงงานประมงขาดเพียง 1,000 กว่าคน เมื่อเทียบกับขนาดและจำนวนเรือ มั่นใจแก้ปัญหาได้ จัดระบบนำเข้าผ่าน MOU จากกัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม พร้อมกระตุ้นผู้ประกอบการ ดูแลสวัสดิการแรงงานตามหลักสากล ใช้ไอทีช่วยทำประมง ชง พรก.การทำงานของคนต่างด้าวฯ เข้า ครม. 7 มี.ค.นี้
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสบรรยายพิเศษ เรื่อง “นโยบายแก้ไขปัญหาแรงงานประมงไทย สู่ Thailand 4.0 “ในการเสวนา เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปกองเรือประมง เครื่องมือทำการประมง และการใช้แรงงานในเรือ เพื่อก้าวเข้าสู่การทำประมงอย่างยั่งยืนในยุค Thailand 4.0 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยกล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานประมงที่ทำงานในประเทศไทยจะเชื่อมโยงอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การใช้แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ และเรื่องของปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขอยู่อย่างเร่งด่วน ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยเป้าหมายในการดำเนินการไม่ใช่แค่เพื่อยกระดับสถานะใน TIP Report ของสหรัฐฯ หรือการปลดล็อคใบเหลืองจาก EU เท่านั้น แต่มีเป้าหมายเพื่อให้การใช้แรงงานในภาคประมงเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมุ่งไปสู่การเป็นแรงงานในยุค Thailand 4.0
ทั้งนี้ จากสถานการณ์แรงงานประมงของกรมการจัดหางาน ในปัจจุบันมีแรงงานประมงจดทะเบียน จำนวน 114,665 คน เมื่อเทียบกับจำนวนและขนาดเรือประมงที่มีอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ พบว่า ขาดแรงงานประมงอยู่ประมาณ 1,000 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งเรือประมงที่มีอยู่ก็ไม่ได้ทำการประมงทุกวัน ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางานจะสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ โดยได้ทำ MOU กับประเทศกัมพูชาและเมียนมาไว้แล้ว และล่าสุดเวียดนามก็มีความสนใจที่จะส่งแรงงานเข้ามาทำงานในกิจการประมง ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่งด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในตอนท้ายว่า การเตรียมแรงงานไปสู่ Thailand 4.0 นั้น มีอยู่ 2 ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรก คือ คน ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการและสามารถแก้ไขปัญหาได้โดย จะเห็นผลชัดเจนในปี 2561- 2563 ส่วนการนำเข้าที่จะดำเนินการต่อไปนั้น จะเป็นการนำเข้าแรงงานด้วยระบบ MOU ทั้งแรงงานประมง แรงงานทั่วไป ที่จะต้องผ่านการฝึกมาตั้งแต่ประเทศต้นทาง ให้ความรู้ตั้งแต่เรื่องการทำประมง เมื่อเข้ามาในประเทศต้องผ่านจุดแรกรับและสิ้นสุดการจ้างตามแนวชายแดน ที่ได้เตรียมการให้แรงงานรับรู้ทั้งด้านสวัสดิการ ระเบียบขั้นตอนต่างๆ เรียนรู้ทักษะในการประมง กฎหมาย ขนบธรรมเนียมต่างๆ รวมทั้งการจ้างงาน เพื่อมิให้มีการหลอกลวง เป็นการสร้างความมั่นใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้ว จะต้องผ่านจุดส่งกลับ ซึ่งจะมีการตรวจสอบแรงงานเหล่านั้น ให้ได้รับสิทธิอย่างครบถ้วน ปัจจัยที่สองเป็นเรื่องเทคโนโลยี ผู้ประกอบการเองต้องทำการประมงโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งจะช่วยลดความต้องการแรงงานประมงลงได้ และสามารถทำการประมงได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะทำหน้าที่จัดหาแรงงานให้ได้มาอย่างถูกกฎหมายและให้การดูแลตามมาตรฐานสากล ที่ผ่านมาได้ดำเนินการด้านกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เช่น อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พิธีสารภายใต้อนุสัญญา 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ, อนุสัญญา (C111) ว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ, ยุทธศาสตร์การบริหารแรงงานต่างด้าว (พ.ศ.2560-2565) รวมทั้งร่าง พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. … ที่จะนำเข้า ครม. ในวันพรุ่งนี้ (7 มี.ค.60)
————————————–
กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
6 มีนาคม 2560