Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

“บิ๊กอู๋”ตรวจฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยที่เพชรบูรณ์ มั่นใจผู้ฝึกจบเกินครึ่งมีงานทำ

pll_content_description

        รมว.แรงงาน ลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ติดตามความคืบหน้าโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยฯ พร้อมมอบเครื่องมือช่างชุมชน นำความรู้ ทักษะไปต่อยอดประกอบอาชีพ กำชับหัวหน้าส่วนในสังกัดบูรณาการทำงานรูปแบบประชารัฐ ให้ทันเวลา มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มั่นใจกลุ่มเป้าหมาย มีอาชีพ มีงานทำ รายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน

          เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2561 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินการฝึกอาชีพโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และความมั่นคงในชีวิต ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยในช่วงเช้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานเพชรบูรณ์ โดยกล่าวว่า ขอให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานบูรณาการดำเนินงานร่วมกัน ทั้งหน่วยงานภายใน และหน่วยงานภายนอกในรูปแบบประชารัฐ เพื่อให้การดำเนินการของโครงการฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายไว้ได้ทันตามเวลาที่กำหนด มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันต้องมีการติดตามผลการดำเนินการเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการของกระทรวงแรงงาน เมื่อผ่านการฝึกแล้วจะต้องมีอาชีพ มีงานทำ มีทักษะฝีมือ มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีหลักประกันทางสังคมและความมั่นคงในชีวิต
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงการทำงานของกระทรวงแรงงานในปี ๒๕๖๒ ด้านทักษะฝีมือแรงงานจะต้องมีความชัดเจนขึ้น ต้องมีการขับเคลื่อนเตรียมแรงงานเพื่อเข้าสู่ทักษะฝีมือแรงงานทั้งประเทศ ซึ่งหมายถึงมูลค่าปัจจัยการผลิต มูลค่าของค่าจ้าง โดยต้องมีการบูรณาการกับนายจ้าง กระทรวงแรงงาน และอุดมศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องทำให้สำเร็จ และแรงงานของไทยต้องได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ถูกต้องตามอาชีวอนามัย ส่วนแรงงานต่างด้าวต้องเข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง และได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายของไทย การฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยเมื่อเข้ามารับการฝึกแล้วจะต้องไปทำงานได้จริงๆ รวมถึงการจ้างงานผู้สูงอายุ และการขับเคลื่อนตามมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๐ ของสำนักงานประกันสังคมต้องมีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น โดยภายใน ๕ ปี ต้องมีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่มาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๐ จำนวน ๕ ล้านคน
          โอกาสเดียวกันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ฯ และคณะ ยังได้ตรวจเยี่ยมผู้ฝึกอาชีพฯ ในหลักสูตรช่างชุมชน 1 รุ่น อาหารไทย 2 รุ่น ขนมไทย 2 รุ่น ของว่างและน้ำสมุนไพร 1 รุ่น รวมจำนวนกว่า 140 คนและมอบเครื่องมือช่างประจำชุมชน 2 รุ่น จำนวน 40 คน เยี่ยมชมการออกบูธฝึกอาชีพของกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน ได้แก่ กลุ่มสานตะกร้าด้วยเชือกพลาสติก ของตำบลซับเปิบ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดง อาทิ เปล กระเป๋า เข่งมะขามหวาน เป็นต้น ปัจจุบันมีสมาชิก 23 คน กลุ่มส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่ กลุ่มหัตถกรรมหญ้าแฝกของตำบลท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดง อาทิ หมวก พัด พานพุ่ม กล่องเอนกประสงค์ เป็นต้น ปัจจุบันมีสมาชิก 20 คน                    
          นอกจากนี้ รมว.แรงงาน ยังได้เยี่ยมชมการออกบูธของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน อาทิ การบริการคนหางานผ่านตู้ Job box การสาธิตการฝึกอาชีพ การให้คำปรึกษากฎหมายแรงงาน และการรับสมัครมาตรา 40 เป็นต้น จากนั้นตรวจเยี่ยมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร จำนวน 15 คน ตรวจเยี่ยมการฝึกฝีมือเพื่อเตรียมเข้าทำงานสาขาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ จำนวน 15 คน 
          จากนั้นช่วงบ่าย พล.ต.อ.อดุลย์ฯ และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมการฝึกอาชีพตัดผมของตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 21 นาย ณ วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สนพ.เพชรบูรณ์ ตำรวจภูธรจังหวัดและวิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบูรณ์ และเยี่ยมชมกิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระแก่กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการจักสานภาชนะจากไม้ไผ่ เช่น พัด หวดนึ่งข้าว กระติ๊บข้าว ไม้กวาด เป็นต้น ปัจจุบันมีสมาชิก 12 คน ณ วัดโพธิ์สว่าง หมู่ 8 ต.น่างั่ว อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ 
           สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานของจังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีกำลังแรงงาน 486,421 คน เป็นผู้มีงานทำ 476,873 คน ว่างงาน 6,296 คน คิดเป็นอัตรา 1.29 % ผู้รอฤดูกาล 3,253 คน มีสถานประกอบการทั้งสิ้น 2,764 แห่ง มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั้งสิ้น 8,771 คน ส่วนโครงการฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยฯ มีเป้าหมายดำเนินการทั้งสิ้น 8,463 คน ดำเนินการแล้ว 7,148 คน คิดเป็นร้อยละ 84.46 ส่วนภาพรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 15 ก.ย.61 ดำเนินการแล้ว 266,308 คน จากเป้าหมาย 412,741 คน

—————————————

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
กัณติภณ คูสมิทธิ์ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
17 กันยายน 2561

Tags:

TOP