Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

“บิ๊กอู๋”ต้อนรับ คกก.ปฏิรูปประเทศเพื่อสังคม หารือขับเคลื่อนการจ้างงานผู้สูงอายุ

pll_content_description

       รมว.แรงงาน ให้การต้อนรับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เข้าพบเพื่อหารือสิทธิประโยชน์การออม สวัสดิการ และการลงทุนเพื่อสังคมของผู้สูงอายุและคนพิการ รวมทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ

              วันนี้ (30 พ.ค.61) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือประเด็นการขับเคลื่อนตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน และในอีก 3 ปีข้างหน้าผู้สูงอายุจะพุ่งสูงถึง 16 ล้านคน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งรัดดำเนินการในเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ปรับแก้กฎกระทรวงเกี่ยวกับการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยจะต้องบูรณาการร่วมกับภาคเอกชนในการกำหนดประเภทของงาน ลักษณะการจ้างงาน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ
            พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เข้าไปดูแลลูกจ้างก่อนเกษียณอายุในประเด็นการส่งเสริมการออม สวัสดิการ และการลงทุนเพื่อสังคม ได้ส่งเสริมการออมให้แก่ลูกจ้างเพื่อให้มีเงินออมไว้ใช้ภายหลังจากเกษียณอายุ โดยส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ ปัจจุบันมี 614 แห่ง ลูกจ้าง 689,756 คน นอกจากนี้ยังบริการเงินกู้ของกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานเพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ของผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการได้กู้ เพื่อปล่อยกู้ให้แก่สมาชิกในสถานประกอบการในอัตราดอกเบี้ยต่ำ การส่งเสริมให้นายจ้างจัดสวัสดิการทั้งสวัสดิการส่วนที่กฎหมายกำหนดและสวัสดิการที่นอกเหนือจากกฎหมายกำหนด อาทิ ให้สถานประกอบการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งส่งเสริมให้มีแพทย์และพยาบาลในสถานประกอบการเพื่อดูแลสุขภาพลูกจ้าง เป็นต้น
            สำหรับการรองรับผู้สูงอายุในการทำงานนั้น กระทรวงแรงงานได้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 6 พ.ศ.2560 โดยใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นมา มีสาระสำคัญเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยกำหนดอายุเกษียณของลูกจ้างในสถานประกอบการไว้ที่ 60 ปี ให้คณะกรรมการค่าจ้างมีอำนาจในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างผู้สูงอายุและคนพิการเป็นรายชั่วโมงได้เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการจ้างงานผู้สูงอายุและคนพิการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิถุนายนนี้ 
           ส่วนกรณีผู้สูงอายุที่เกษียณอายุไปแล้ว และต้องการทำงานอิสระ กระทรวงแรงงานได้ออก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 ซึ่งผู้สูงอายุสามารถรับงานจากสถานประกอบการไปทำที่บ้านและได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น โดยจะได้รับค่าจ้างอัตราเดียวกับที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างในสถานประกอบการและไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

——————————-

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
30 พฤษภาคม 2561

Tags:

TOP