Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

“บิ๊กอู๋”มอบการบ้านหัวหน้าส่วนครึ่งปีหลัง เร่งขับเคลื่อนนโยบาย 3A สู่การปฏิบัติในพื้นที่

pll_content_description

        รมว.แรงงาน มอบนโยบายผู้บริหาร หัวหน้าส่วน 750 คน เร่งขับเคลื่อนนโยบาย 3A สู่การปฏิบัติในพื้นที่ แรงงานมีงานทำ มีฝีมือ มีอาชีพ มีรายได้ ได้รับการคุ้มครอง มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต

            เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ“การกำกับ ติดตาม การขับเคลื่อนนโยบาย 3A สู่การปฏิบัติในพื้นที่”ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า จากปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้มีการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงแรงงานและนโยบายรัฐบาล โดยร่วมมือกันทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ จนประเทศไทยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลก เช่น มีอัตราว่างงานน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก สหรัฐอเมริกายกระดับให้ประเทศไทยเป็น Tier 2 และจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการจัดการปัญหาการใช้แรงงานเด็กในอันดับสูงสุด คือ ระดับที่มีความสำเร็จมาก (Significant Advancement) รวมทั้งสหภาพยุโรป (EU) ประกาศปลดใบเหลืองไอยูยู ส่วนผลงานในภาพรวม กระทรวงแรงงาน เป็นเจ้าภาพจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 12 โดยเยาวชนไทยสามารถคว้าเหรียญทองสูงสุด 16 เหรียญ และได้รับเหรียญฝีมือยอดเยี่ยมอีก 13 เหรียญ รวมทั้งการได้รับมอบโล่และตรารับรองรองมาตรฐานการให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก และรางวัลอื่น ๆ อีกหลายรางวัล
            พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า ปี 2562 กระทรวงแรงงานได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย 3A (13–4-7) จนมีผลงานที่สำคัญเป็นรูปธรรม ได้แก่ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) 18,534 คน ส่งเสริมการมีงานทำ 40,223 คน คุ้มครองแรงงาน 79,754 คน ส่งเสริมแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง มีแรงงานได้รับการฝึกอบรมและได้รับอนุญาตเดินทางไปทำงาน 17,857 คน บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวตาม MOU ตรวจสอบและเร่งรัดการทำงานของแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการจ้างแรงงานตาม MOU 178,576 คน มีการตรวจสอบสถานประกอบการ 14,786 แห่ง แรงงานต่างด้าว 149,298 คน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานเชิงระบบ โดยมีแรงงานต่างด้าวทำงานในกิจการประมง 3,173 คน ส่งเสริมการจ้างงานยุวแรงงาน 4,154 คน และส่งเสริมการมีงานทำและพัฒนาทักษะฝีมือผู้ต้องขัง 24,504 คน เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อรักษาอันดับ Tier 2 และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเป็น Tier 1 โดยบูรณาการตรวจคุ้มครองแรงงาน สถานประกอบการ 11,252 แห่ง ลูกจ้าง 96,527 คนรวมถึงการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ และคนพิการ พัฒนาและปรับปรุงสิทธิประโยชน์การประกันสังคมและการเข้าสู่ ILO ฉบับที่ 102 โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีการเข้ารับการผ่าตัดวันเดียวกลับ กรณีผู้ทุพพลภาพที่ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 จำนวน 455,704 คน 
             รมว.แรงงาน ยังได้เน้นย้ำให้ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดเร่งขับเคลื่อนนโยบาย 3A (13–4-7) ในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยให้มีการปรับแผนปฏิบัติการของกระทรวงแรงงาน และแผนบริหารจัดการแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งการเพิ่มเป้าหมายการดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน สู่ SME 4.0 ที่จะเข้าไปช่วยการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อให้แรงงานมีงานทำ มีรายได้ มีอาชีพ ได้รับการยกระดับฝีมือแรงงาน การคุ้มครอง และการสร้างหลักประกันสังคม เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมีการบูรณาการทำงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรม ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนปฏิรูปประเทศต่อไป
            สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อติดตามการดำเนินงาน และการมอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย 3 A ในช่วงครึ่งปีหลัง ของปีงบประมาณ 2562 เพื่อให้การนำนโยบายไปปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนการปฏิรูปประเทศ มีผู้เข้าประมาณ 750 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานในส่วนภูมิภาค ผู้อำนวยการสำนัก/กอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมที่น่าใจ ได้แก่ การมอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย 3A ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 โดย รมว.แรงงาน การบรรยายพิเศษหัวข้อ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติของส่วนราชการเพื่อพัฒนาประเทศไทยในอนาคต” โดยรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหัวข้อ “บทบาทของแรงงานเพื่อการรับมือเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่” โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย รวมทั้งการนำเสนอรายงานและข้อเสนอแนะจากการประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงแรงงาน โดย รศ.ดร.ชลัยพร อมรวัฒนา ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

———————————-

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
ปริยารณ พรหมสาขา ณ สกลนคร – ภาพ/
7 มีนาคม 2562

Tags:

TOP