รมว.แรงงาน ขึ้นเหนือ ลุยฝึกอาชีพกลุ่มแรงงานนอกระบบ ประชุมติดตามขับเคลื่อนนโยบาย 3A เสริมสร้างความร่วมมือเร่งผลิตแรงงานฝีมือคุณภาพ (Super Worker) ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการดำเนินงานชมรมทูบีนัมเบอร์วัน
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง โอกาสนี้ได้มอบเงินจากกองทุนเงินทดแทนกรณีลูกจ้างสูญเสียอวัยวะและตายเนื่องจากการทำงาน จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1) นายเชาวลิต นามดวง เป็นลูกจ้างบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด สาขาแม่เมาะ ได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 โดยถูกใบพัดระบบความร้อนหนีบแขนซ้ายขณะทำการตรวจสอบเครื่องจักรแทรคเตอร์ เป็นเหตุให้แขนซ้ายขาดระดับใต้ข้อศอกได้รับเงินทดแทน จำนวนทั้งสิ้น 716,757.45 บาท 2) นายกฤติพงศ์ อินชูรันต์ ซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด สาขาแม่เมาะได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 โดยถูกสายพานเครื่องจักรหนีบลำตัวขณะทำการตรวจเช็คเป็นเหตุให้เสียชีวิต ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนและเงินบำเหน็จชราภาพ คือ บิดาของลูกจ้าง ชื่อนายวันชัย อินชูรันต์ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 709,519.01 บาท มอบรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปี 2561 จำนวน 10 แห่ง แบ่งเป็นระดับประเทศ 2 แห่ง และระดับจังหวัด 8 แห่ง เยี่ยมชมนิทรรศการกลุ่มแรงงานนอกระบบ จำนวน 9 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มรับงานไปทำที่บ้านตัดเย็บเสื้อผ้ากระเป๋า มีสมาชิก 51 คน ทำผลิตภัณฑ์เย็บเสื้อผ้าโหลของเด็ก และเย็บเสื้อผ้าพื้นเมือง มีรายได้ 30,000 บาท/เดือน 2) กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน ทำผลิตภัณฑ์ตัดเย็บถุงเท้า รองเท้าจากชุดดำน้ำ มีสมาชิก 22 คน มีรายได้ 25,000/เดือน 3) กลุ่มจักสานบ้านห้วยเป้ง ทำผลิตภัณฑ์ตะกร้าทางมะพร้าว ตะกร้า ชะลอมใส่ขวดน้ำผึ้ง ขันโตกหวาย ไม้กวาดดอกหญ้า ไม้กวาดทางมะพร้าว มีสมาชิก 30 คน มีรายได้ 10,000 – 20,000 บาท/เดือน 4) กลุ่มนวดแผนไทย ทำผลิตภัณฑ์ลูกประคบสมุนไพร ยาหม่อง บริการนวดผ่อนคลาย นวดแก้อาการ ตอกเส้น ฝังเข็ม นวดปรับสมดุลร่างกาย นวดสปา หน้า – ตัว มีสมาชิก 80 คน มีรายได้ 50,000 บาท/เดือน 5) กลุ่มถักเชือกร่ม ทำผลิตภัณฑ์กระเป๋า รองเท้า ตะกร้า มีสมาชิก 14 คน มีรายได้ 10,000 บาท/เดือน 6) กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรบ้านโป่ง ทำผลิตภัณฑ์สเปรย์สมุนไพรกระดูกไก่ดำ ครีมทาผิว แชมพู ครีดนวดผม น้ำหมักหงอก และสบู่ มีสมาชิก 20 คน มีรายได้ 8,000 บาท/เดือน 7) กลุ่มเพื่อนคนพิการ ทำผลิตภัณฑ์จักสานตะกร้าไวน์จากไม้ไผ่ มีสมาชิก 31 คน มีรายได้ 11,000 บาท/เดือน 8) กลุ่มจักสานเก้าอี้พลาสติก ทำผลิตภัณฑ์จักสานเก้าอี้ไม้ไผ่ด้วยเส้นพลาสติก มีสมาชิก 8 คน มีรายได้ 25,000 บาท/เดือน และ 9) กลุ่มเย็บเครื่องหนัง ทำผลิตภัณฑ์เย็บกระเป๋าผ้า มีสมาชิก 14 คน มีรายได้ 20,000 บาท/เดือน
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ และคณะยังได้รับชมการนำเสนอผลงานด้านการให้ความปลอดภัยในการทำงานแก่กลุ่มแรงงานนอกระบบ เยี่ยมชมกิจกรรมสนับสนุนนโยบายยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพฯ (Super Worker) กิจกรรมการฝึกอบรมภาษาเกาหลีเพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมให้แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศตามกระบวนการเดินทางไปอย่างถูกต้องและมีทักษะฝีมือสูงขึ้น
จากนั้น รมว.แรงงาน เป็นประธานมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานแก่หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง โดยกล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในระดับพื้นที่ เพื่อติดตามผลการดำเนินการ ปัญหาและอุปสรรคเพื่อจะได้หาทางแก้ไขและยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ด้านแรงงานของทั้ง 2 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดลำปาง ซึ่งมุ่งเน้น 2 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเหมืองแร่และเหมืองหิน เพื่อเพิ่มผลิตภาพด้านแรงงานที่มีความสามารถ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้จังหวัดควบคู่ไปกับด้านสังคมเข้มแข็ง ซึ่งเน้นส่งเสริมให้ประชาชน วัยแรงงานทั้งในและนอกระบบมีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ มีหลักประกันในสังคม และมีความปลอดภัยในการทำงาน
รมว.แรงงาน และคณะยังได้ตรวจเยี่ยมกิจกรรมด้านแรงงานแก่ลูกจ้างบริษัท นอร์เทิร์นแอทไทร์ จำกัด อาทิ ผลงานการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน การดำเนินงานชมรมทูบีนัมเบอร์วันในสถานประกอบการ โดยบริษัท นอร์เทิร์นแอทไทร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเครื่องแบบภาคสนามของทุกหน่วยราชการและเอกชน มีลูกจ้าง 105 คน เป็นชาย 7 คน และหญิง 95 คน ไม่มีการจ้างแรงงานเด็กและแรงงานต่างด้าว มีสมาชิกชมรมฯ จำนวน 177 คน เป็นพนักงานบริษัท 105 คน และเป็นสมาชิกของครอบครัวพนักงาน 72 คน ซึ่งบริษัทฯ ได้ส่งเสริมให้พนักงานเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเพิ่มผลิตภาพแรงงาน มีการส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ การประกันสังคม เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดลำปาง มีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 256,744 คน ผู้มีงานทำ 255,342 คน ผู้ว่างงาน 1,402 คน มีแรงงานนอกระบบ 167,788 คน อยู่ในภาคเกษตร 101,238 คน นอกภาคเกษตร 66,550 คน มีสถานประกอบการ 2,221 แห่ง มีแรงงานต่างด้าว 15,091 คน มีผู้ประกันตนประกันสังคม ม.33 จำนวน 83,919 คน ม.39 จำนวน 15,538 คน ม.40 จำนวน 36,116 คน
———————–
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
กัณติภณ คูสมิทธิ์ – ภาพ/
14 มกราคม 2562
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
กัณติภณ คูสมิทธิ์ – ภาพ/
14 มกราคม 2562