รมว.แรงงาน ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงาน ณ สาธารณรัฐเกาหลี ย้ำ การเดินทางไปต่างประเทศอย่างถูกต้องจะได้รับ ค่าจ้าง และสวัสดิการตามกฎหมาย
วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๗.๐๐ น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี ณ ด่านตรวจคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคาร ๑) ภายในท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง กรุงเทพฯ ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานจะดำเนินการจัดส่งคนงานไทยไปทำงาน ณ สาธารณรัฐเกาหลี จำนวนทั้งสิ้น ๒๒๕ คน อายุระหว่าง ๒๐ – ๔๐ ปีบริบูรณ์ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ซึ่งประกอบไปด้วย ภาคอุตสาหกรรม ๑๘๖ คน ภาคก่อสร้าง ๓๖ คน และภาคเกษตรกรรม/ปศุสัตว์ ๓ คน โดยมีสัญญาจ้าง ๓ ปี และจะได้รับเงินเดือนตามค่าแรงขั้นต่ำ ๗,๕๓๐ วอนต่อชั่วโมง หรือเดือนละ ๑,๕๗๓,๗๗๐ วอน หรือ ๑,๗๐๑,๗๘๐ วอน ขึ้นอยู่กับนายจ้าง/สถานประกอบการ ทั้งนี้ ในปี ๒๕๖๑ กระทรวงแรงงาน มีเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจำนวน ๔๐,๐๐๐ คน โดยเป้าหมายการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน ๖,๐๐๐ คน จัดส่งไปแล้ว จำนวน ๑,๐๑๔ คน และจะจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลีในครั้งนี้อีกจำนวน ๒๒๕ คน (ข้อมูลจากฝ่ายจัดส่งไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี (EPS) กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ณ วันที่ ๑๕ มิ.ย.๖๑)
พล.ต.อ. อดุลย์ฯ ได้กล่าวกับแรงงานไทยที่จะเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีว่า ขอให้แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ศึกษาวัฒนธรรมประเพณีของประเทศนั้นๆ หลีกเลี่ยงอบายมุข และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุด เพื่อจะได้นำรายได้กลับสู่ครอบครัวอันเป็นที่รัก พ่อแม่ พี่น้อง หรือญาติมิตรในประเทศไทย และให้นำประสบการณ์จากการไปทำงานในต่างประเทศกลับมาพัฒนาประเทศไทยต่อไป
“ขอเน้นย้ำสำหรับผู้ที่อยากเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ศึกษาขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้อง เพื่อป้องการถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ และเพื่อให้ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการตามกฎหมาย โดยในส่วนของขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้การเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมาย มี ๕ วิธี ได้แก่ ๑. บริษัทจัดหางานจัดส่ง ๒. กรมการจัดหางานจัดส่ง ซึ่งเป็นการจัดส่งโดยรัฐ ได้แก่ โครงการจ้างตรง : ไต้หวัน, โครงการ IM : ประเทศญี่ปุ่น, โครงการ EPS : สาธารณรัฐเกาหลี และโครงการ TIC : ประเทศอิสราเอล ๓. เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง ๔. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน ๕. นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน สำหรับในส่วนของขั้นตอนการเดินทางนั้น คนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อนตัดสินใจเดินทางและควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบ โดยศึกษาเงื่อนไขในสัญญาจ้างอย่างละเอียด และกฎระเบียบเกี่ยวกับการจ้างงานในต่างประเทศที่จะเดินทาง ซึ่งสัญญาจ้างนั้นจะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานแรงงานไทยหรือสถานทูต/กรมการกงสุลไทยประจำประเทศนั้นๆ” พล.ต.อ. อดุลย์ฯ กล่าวในท้ายสุด
——————————-
กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/ณัฏฐภัทร์ ชื่นเอี่ยม – ข่าว/สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/กรมการจัดหางาน – ข้อมูล/๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๑