รมว.แรงงาน เผยผลการหารือร่วม สภาวิศวกร สภาวิชาชีพบัญชี และสภาสถาปนิก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงการกำหนดอาชีพให้คนต่างด้าวทำ บัญชี สถาปนิก วิศวกร ได้หรือไม่ ยืนยันยึดถือผลประโยชน์แรงงานไทยและประเทศชาติเป็นสำคัญ พร้อมนำกลับมาทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของแต่ละวิชาชีพเพื่อให้เกิดความชัดเจนภายในเดือนมิถุนายนนี้
วันนี้ (1 มิ.ย.61) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพตามข้อตกลงยอมรับร่วมในเรื่องคุณสมบัติของนักวิชาชีพอาเซียน (MRAs) ร่วมกับผู้แทนทั้ง 3 สภา ได้แก่ สภาวิศวกร สภาวิชาชีพบัญชี และสภาสถาปนิก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และทีดีอาร์ไอ ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2561 โดยได้ทบทวนอาชีพของคนไทยที่สงวนไว้จำนวน 39 อาชีพ ซึ่งได้ข้อยุติว่าอาชีพสงวนไว้สำหรับคนไทย จำนวน 28 อาชีพ และอนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้ภายใต้เงื่อนไข จำนวน 11 อาชีพ ส่วนอาชีพบัญชี สถาปนิก และวิศวกร ได้ทำตามเงื่อนไขของข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนโดยให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานภายใต้เงื่อนไขกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งทั้ง 3 อาชีพ แรงงานต่างด้าวจะต้องไม่ได้เป็นนายจ้าง แต่เป็นลูกจ้าง ภายใต้การกำกับโดยนายจ้างคนไทยเท่านั้น
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า จากการหารือกับทั้ง 3 สภาวิชาชีพในวันนี้ เพื่อต้องการให้เกิดความชัดเจน เบื้องต้นได้รับหลักการจากสภาวิชาชีพแต่ละแห่งไว้ก่อน ซึ่งจะต้องนำข้อคิดเห็นทั้งหมดกลับมาพิจารณาทบทวนให้รอบด้าน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของแรงงานไทยและประเทศชาติ ซึ่งได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงานนำข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายไปประมวลและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมโต๊ะเล็กอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนภายในเดือนมิถุนายนนี้
——————————
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
1 มิถุนายน 2561