Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

“บิ๊กอู๋”หารือหน่วยเกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางที่เหมาะสม ตอบข้อเรียกร้องสมาคมประมง

pll_content_description

      รมว.แรงงาน หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางที่เหมาะสมตามข้อเรียกร้องสมาคมประมง ยืนยันรับฟังทุกฝ่าย นำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนและยึดแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากล

          เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมประมง กรมเจ้าท่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย และสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี เป็นต้น เพื่อชี้แจงประเด็นกรณีการผลักดันประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ.2007 ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของสมาคมประมงแห่งประเทศไทยที่จะให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาจาก IUU Fishing ณ ห้องประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า สาระสำคัญของอนุสัญญาฯ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ค.ศ. 2007 จะทำให้คนงานประมง มีสภาพการทำงานที่มีคุณค่าตามข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานบนเรือประมง อาทิ มีข้อกำหนดขั้นต่ำในการทำงานที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องอายุขั้นต่ำ มีใบรับรองแพทย์ก่อนลงเรือ มีเวลาพักขั้นต่ำ 10 ชั่วโมงจาก 24 ชั่วโมง และ 77 ชั่วโมงใน 1 สัปดาห์มีทะเบียนลูกจ้าง สัญญาจ้าง การจ่ายค่าตอบแทนผ่านระบบบัญชีธนาคาร มีที่พัก อาหาร น้ำดื่มที่เพียงพอเหมาะสม มียารักษาโรคเบื้องต้นกรณีเจ็บป่วย มีช่องทางการติดต่อสื่อสารกับบนฝั่ง มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ได้รับสิทธิความคุ้มครองด้านการประกันสังคม และเข้าถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองแรงงานประมง ให้มีสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ในเรือประมงที่เหมาะสม มีความปลอดภัย สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งจะบังคับใช้กับแรงงานประมงทุกคน เรือประมงทุกลำ ทุกขนาดที่ทำการประมงเพื่อการค้าเท่านั้น ยกเว้นการทำประมงเพื่อยังชีพ หรือการทำประมงในครัวเรือนเพื่อค้าขายในชุมชนและการทำประมงเพื่อสันทนาการและสามารถขอยกเว้นการบังคับใช้การทำประมงน้ำจืดในแม่น้ำลำคลองได้
            พล.ต.อ.อดุลย์ ฯ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเรียกร้องของสมาคมประมงที่ต้องการให้แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานนั้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานมีแนวทางเร่งรัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา กัมพูชา และเวียดนามตาม MOU ซึ่งเบื้องต้นประเทศต้นทางมีตำแหน่งให้แล้ว 2,000 คน และข้อเรียกร้องที่ต้องการให้แก้ไขปัญหากฎระเบียบที่ออกมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการเรือประมงและไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดอายุขั้นต่ำ ในการทำงานบนเรือประมง มีเวลาพักขั้นต่ำ มีการจ่ายค่าตอบแทนผ่านระบบบัญชีธนาคาร และการตรวจแรงงาน และข้อเรียกร้องที่ไม่ต้องการเข้าประกันสังคม เนื่องจากไม่สอดคล้องกับวิถีการทำประมง สำนักงานประกันสังคม มีแนวทางให้ลูกจ้างประมงซื้อประกันจากเอกชน เพื่อคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิตได้ โดยกำหนดให้แรงงานต่างด้าวซื้อประกันสุขภาพ และแรงงานไทยใช้สิทธิบัตรทอง

 

———————————

 

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ-ข้อมูล/
2 สิงหาคม 2561

Tags:

TOP