รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงความพร้อมของกระทรวงแรงงาน ที่จะเป็นหนึ่งในหน่วยงานขับเคลื่อนการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 การมีส่วนร่วมประชุมระดับเจ้าหน้าที่กับบทบาทด้านแรงงานถึง 7 เวทีการประชุม ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยมีพันธกรณีในการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 นั้น กระทรวงแรงงานได้มีบทบาทเป็นหนึ่งในหน่วยงานขับเคลื่อนการเป็นประธานอาเซียน ภายใต้แนวคิดหลัก “Advancing Partnership for Sustainability” หรือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศแนวคิดหลัก และตราสัญลักษณ์การเป็นประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.61
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยในปี 2562 นั้น กระทรวงแรงงานจะมีพันธกรณีในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในกรอบอาเซียน จำนวน 7 เรื่อง ได้แก่ 1) การประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว ครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน เพื่อร่วมหารือติดตามและประเมินผลการดำเนินงานแผนงานคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยการปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว (พ.ศ.2559 – 2563) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 12 -14 ก.พ.62 ณ จังหวัดเชียงราย 2) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 17 เพื่อติดตามความก้าวหน้าภายใต้กรอบความร่วมมือรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน 3) การประชุมคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 12 เพื่อหารือแนวทางมาตรการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน 4) การประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจากการจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบ ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างไทยและลาว โดยลาวจัดทำการศึกษาวิจัย และประเทศไทยจะจัดการประชุมเพื่อตรวจสอบผลงานวิจัยและเผยแพร่งานวิจัย 5) การประชุม ASEAN Forum on Migrant Labour ครั้งที่ 12 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการประชุมแบบไตรภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์การดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว 6) การประชุมระดับภูมิภาคไตรภาคีเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับหุ้นส่วนทางทางสังคม ครั้งที่ 10 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการประชุมแบบไตรภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์การดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว และ 7) การประชุมวิชาการด้านการตรวจแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 8 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการตรวจแรงงาน แนวทางในการส่งเสริมขีดความสามารถในการตรวจแรงงาน
รมว.แรงงาน ยังได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน พร้อมทั้ง ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนทั่วไปร่วมกันต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกอาเซียน และร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประธานอาเซียนในครั้งนี้ด้วย
————————–
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ – ข้อมูล/
5 กุมภาพันธ์ 2562