รมว.แรงงาน และคณะเยี่ยมชม สถาบัน SLV Mannhiem พัฒนาบุคลากรงานเชื่อมรองรับอุตสาหกรรม 4.0 พัฒนาแรงงาน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ
Download lmages
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และคณะ เยี่ยมชมและประชุมหารือระหว่างกระทรวงแรงงานกับสถาบันการเชื่อม SLV Mannhiem สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ สถาบันการเชื่อม SLV Mannhiem สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โอกาสนี้ รมว.แรงงาน และคณะได้ศึกษาดูงานและหารือประเด็นสำคัญกับ Mr.Michael Schubert,Education Manager,SLV Mannhiem เกี่ยวกับความก้าวหน้าของงานเชื่อมรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ระบบการรับรองความรู้ความสามารถด้านงานเชื่อมของเยอรมัน การจัดรูปแบบการฝึกและการทดสอบของเยอรมัน ความร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเกี่ยวกับการทบทวนการฝึก การฝึกครูฝึกตามมาตรฐานเยอรมัน และศึกษาดูงานรูปแบบการจัดผังโรงฝึกงาน เป็นต้น พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีความร่วมมือระหว่างประเทศกับสถาบันการเชื่อม SLV Mannhiem สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในการพัฒนาบุคลากรด้านงานเชื่อมจำนวน 80 คน โดยฝึกอบรบที่เยอรมนี 24 คน และฝึกอบรมที่ไทย 56 คน โดยเฉพาะหลักสูตรพัฒนาครูฝึกซึ่งมีความสำคัญในการพัฒนาแรงงานด้านงานเชื่อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปีละกว่า 3,000 คน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการเข้าศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นการศึกษาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีงานเชื่อมซึ่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นประเทศต้นแบบของอุตสาหกรรม 4.0 ที่นำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้กับอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นผลดีกับกระทรวงแรงงานที่จะได้เตรียมความพร้อมและติดตามความก้าวหน้า ด้านเทคโนโลยีงานเชื่อมที่สามารถนำมาประยุกต์ในการพัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศไทยได้ อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนบุคลากรในการพัฒนาศักยภาพครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และส่งเสริมเครือข่ายในการดำเนินงานต่อไป สำหรับสถาบันการเชื่อม SLV Mannhiem ปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 50 คน และมีหลักสูตรการสอนให้ครูผู้สอนจำนวนมาก ทั้งจากระบบอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย มีวัสดุอุปกรณ์อย่างครอบคลุมในเกือบทุกสาขาของเทคโนโลยีการเชื่อม ซึ่งกระทรวงแรงงานจะได้นำประสบการณ์มาพัฒนาศักยภาพแรงงานโดยเฉพาะงานเชื่อมของศูนย์ฝึกอบรมงานเชื่อมมาตรฐานสากล ซึ่งตั้งอยู่ภายในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการในการฝึกอบรม ทดสอบด้านงานเชื่อมที่ได้ผ่านการรับรองหน่วยงานให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมที่ได้อนุญาตจากสถาบันการเชื่อมสากล สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศระยะ 20 ปี พร้อมรองรับการพัฒนาแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งในพื้นที่อีอีซีและเศรษฐกิจพิเศษ
————————————–
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/ ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/ สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ช้อมูล – ภาพ/ 1 กุมภาพันธ์ 2562