Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

“บิ๊กอู๋” สั่งเร่งแก้ปัญหาแรงงานประมงขาดแคลน พร้อมนำเข้า MOU กว่า 4 หมื่นคน

pll_content_description

            รมว.แรงงาน เผย ผลการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงตามข้อเสนอของสมาคมประมงแห่งประเทศไทยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมนำเข้าแรงงานประมงกว่า 40,000 คน ตามระบบ MOU ปรับปรุงกระบวนการนำเข้าแรงงาน เน้นสะดวกรวดเร็วพร้อมสร้างการรับรู้แก่นายจ้างให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน
            วันนี้ (11 พ.ค.61) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ครั้งที่ 3/2561 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานในประเด็นที่สำคัญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะความคืบหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมง ตามข้อเสนอของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย โดยขอให้กระทรวงแรงงานผลักดันให้ใช้มาตรา 83 แห่ง พ.ร.ก.ประมง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมการจัดหางาน สนับสนุน ส่งเสริม อำนวยความสะดวก ให้นำเข้าแรงงานประมงตามระบบ MOU โดยปรับปรุงกระบวนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้ง่าย สะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาแรงงานในกิจการประมงที่ขาดแคลน จำนวนกว่า 40,000 คน พร้อมจัดทำแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับนายจ้างต่อไปนอกจากนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบแผนขับเคลื่อนการส่งเสริมความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ (Global Supply Chain) เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
            พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่ออีกว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันติดตามความก้าวหน้าในเรื่องต่าง ๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย อาทิ ผลการจัดทำทะเบียนประวัติและออกใบอนุญาตทำงานของศูนย์ OSS การนำข้อมูลม่านตาไปใช้ประโยชน์ในการตรวจการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวไปแล้วกว่า 800,000 ราย จากเป้าหมาย1,320,000 ราย และจะเร่งดำเนินการส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้พร้อมทบทวนคู่มือการตรวจของศูนย์ PIPO การดำเนินคดีและยึดอายัดทรัพย์ของผู้กระทำผิดฐานค้ามนุษย์ด้วย
            สำหรับการยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. …. และการให้สัตยาบันพิธีสาร ILO ฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจปรับปรุงร่างกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และสำหรับการให้สัตยาบันพิธีสารส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ จากนั้นกระทรวงการต่างประเทศจะได้จัดทำหนังสือสัตยาบันสาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะได้ยื่นรับรองพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ ๒๙ ว่าด้วยแรงงานบังคับ ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสในต้นเดือนมิถุนายนนี้ต่อไป

————————————-

กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/

ณัฏฐภัทร์ ชื่นเอี่ยม – ข่าว/สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/11 พฤษภาคม 2561

Tags:

TOP