รมว.แรงงาน สั่ง กสร.และ กกจ. ตรวจสอบสนามกอล์ฟทั่วประเทศ ชี้แจงนายจ้างลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย เน้นย้ำ ต่างด้าว 3 สัญชาติทำงานได้เฉพาะกรรมกรและรับใช้ในบ้านเท่านั้น ฝ่าฝืนมีโทษ
วันนี้ (15 พ.ค.61) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้างแคดดี้คนไทยกรณีร้องเรียนว่า สนามกอล์ฟบางแห่งแคดดี้ไทยถูกนายจ้างบีบออกจากงาน เพราะมีการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำหน้าที่แทนคนไทย ล่าสุดได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและกรมการจัดหางานลงพื้นที่ตรวจสอบสนามกอล์ฟทั่วประเทศแล้ว ซึ่งถ้าหากพบว่ามีการปลดแคดดี้คนไทยออกจากงานจริงตามที่เป็นข่าวกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเข้าไปดูแลและให้การคุ้มครองตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังให้ชี้แจงนายจ้างและลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการสนามกอล์ฟทั่วประเทศว่าไม่สามารถจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานแคดดี้ได้ และเน้นย้ำสร้างความเข้าใจว่าแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา สามารถทำได้เฉพาะอาชีพกรรมกรและรับใช้ในบ้านเท่านั้น
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีแคดดี้คนไทยของสนามกอล์ฟอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมว่า สนามกอล์ฟหักค่าสนามเพิ่มมากขึ้นทำให้มีรายได้ลดลง ล่าสุดสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วทราบว่า แคดดี้กลุ่มนี้มิใช่ลูกจ้างของสนามกอล์ฟ แต่เป็นการตกลงจ้างของผู้มาตีกอล์ฟเท่านั้น โดยให้ค่าบริการแคดดี้ 300 บาทต่อ 1 รอบ ซึ่งแต่เดิมแคดดี้จะต้องจ่ายเงินให้กับสนามกอล์ฟรอบละ 40 บาท แต่ปัจจุบันสนามกอล์ฟมีลูกค้าลดลง จึงปรับขึ้นค่าสนามจาก 40 บาท เป็น 100 บาท ทำให้แคดดี้ไม่ยินยอมและออกมาร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ได้ให้สองฝ่ายมาเจรจาตกลงกันจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจว่า ในช่วง Low season (ก.ค.-ส.ค.) และ (ม.ค. – ก.พ.) จะเก็บค่าสนาม 100 บาทต่อรอบ ส่วนในช่วง High Season (มี.ค. – มิ.ย.) และ (ก.ย.-ธ.ค.)
จะเก็บค่าสนาม 40 บาทต่อรอบ ทั้งนี้ เพื่อให้สนามกอล์ฟอยู่ได้และแคดดี้ทำงานต่อไปได้เช่นกัน
จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ปัจจุบันสนามกอล์ฟในประเทศไทยกว่า 200 แห่ง หากนับรวมสนามไดรฟ์กอล์ฟด้วยรวมได้ประมาณ 500 แห่ง ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2561 ระบุว่า คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง สำหรับนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ต้องระวางโทษปรับ 10,000 – 100,000 บาท กรณีทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามผู้นั้นจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ
———————————
กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
กัณติภณ คูสมิทธิ์ – ภาพ/
15 พฤษภาคม 2561