รมว.แรงงาน เผย เสนอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 เข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ พร้อมมาตรการทางภาษีที่เกี่ยวข้อง 30 ม.ค.นี้ ยืนยันเสียงสะท้อนส่วนใหญ่เห็นด้วย เชื่อส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจระยะยาว
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลัง นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ขอเข้าพบเพื่อหารือประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยได้กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 เฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น 5% โดยปรับขึ้นค่าจ้างทุกจังหวัดตั้งแต่ 5-22 บาท ถือว่าสูงที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยจะมีผลต่อแรงงานและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่มีเสียงตอบรับดี ส่วนผลกระทบต่อเอสเอ็มอีนั้น ขณะนี้รัฐบาลได้มีมาตรการที่จะรองรับไว้แล้วทั้งด้านมาตรการทางภาษีของกระทรวงการคลัง การพัฒนายกระดับผลิตภาพเอสเอ็มอีของกระทรวงอุตสาหกรรม และการควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ โดยทั้งหมดจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันอังคารที่ 30 มกราคมนี้
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า กรณีมีข้อเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศนั้น ได้รับไว้พิจารณาเพราะถือว่ามีเหตุผล โดยยืนยันว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการค่าจ้างได้พิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพในพื้นที่ตามที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมา ส่วนมาตรการลดเงินประกันสังคมและการให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปปรับโครงสร้างค่าจ้างประจำปีนั้น ขณะนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น ซึ่งกระทรวงแรงงานจะพิจารณาในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความรอบคอบอีกครั้งต่อไป
“ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้านในภาพรวมของประเทศการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกันอาจจะส่งผลกระทบในช่วงต้น แต่เชื่อมั่นว่าต่อไปจะส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน” พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าว
ด้าน นายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. ยังคงหลักการว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรเท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ขณะเดียวกันต้องการให้กระทรวงแรงงานปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเพื่อให้สถานประกอบการปรับโครงสร้างค่าจ้างประจำปี และเปลี่ยนคำนิยาม ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น ค่าจ้างแรกเข้า เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและเกิดประโยชน์กับนายจ้างและลูกจ้างมากที่สุด
——————————–
กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร –ภาพ/
29 มกราคม 2561