Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ผนึกกำลัง ‘ทุกหน่วย’ ปฏิบัติการตรวจแรงงานประมง ชลบุรี

pll_content_description

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นำคณะทำงานบูรณาการความร่วมมือในการตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในเรือประมง กิจการประมงทะเล และกิจการที่เกี่ยวข้อง ตรวจเข้มท่าเรือวราสินธ์ ท่าเรือสุวิทย์ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ไม่พบมีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย




Preview

Download Images

            พลเอก กิตติ ปทุมมาศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในเรือประมง กิจการประมงทะเล และกิจการที่เกี่ยวข้อง ท่าเรือวราสินธ์ ท่าเรือสุวิทย์ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งจากการตรวจเรือประมง ๔ ลำ แรงงานต่างด้าวกว่า ๑๔๐ คน ไม่พบมีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานชนิดสีชมพู (ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว)
            นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเลมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งให้ความคุ้มครองลูกจ้างในกลุ่มเรือประมงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ที่จะทำงานในเรือประมงต้องมีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีขึ้นไปถึงจะทำงานได้ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา และนายจ้างเจ้าของเรือต้องใช้แรงงานต่างด้าวที่ผ่านการอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง รวมถึงนายจ้างต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างก่อนออกเรือให้กับเจ้าหน้าที่ และในรอบ ๑ ปีต้องพาลูกจ้างมารายงานตัว ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์เรื่องการค้ามนุษย์ที่กระทรวงแรงงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) ให้ความสำคัญมาก ซึ่งจะต้องแก้ไขให้ยุติลงโดยเร็ว เพื่อลดระดับการค้ามนุษย์ในระดับเทียร์ ๓ ให้หมดไป และให้นานาชาติได้เห็นมาตรฐานด้านการคุ้มครองแรงงานที่ดีมีพัฒนาการขึ้นกว่าเดิม
            ต้องการให้เจ้าของเรือได้รับทราบกฎกระทรวงฉบับใหม่ และให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และจากการตรวจเรือประมง ๔ ลำ แรงงานต่างด้าวกว่า ๑๔๐ คน ไม่พบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานชนิดสีชมพู อีกทั้งยังได้รับรายงานเข้ามาในช่วง ๑๐ วันที่ผ่านมา ทั้ง ๒๒ จังหวัดชายทะเล ยังไม่พบการกระทำผิดใดๆ นายวรานนท์ฯ กล่าวท้ายสุด
            นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจในครั้งนี้ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างทราบกฎหมายฉบับใหม่ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจัดระบบแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานสากลให้มีการคุ้มครองแรงงาน เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ขู่บังคับใช้แรงงาน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
            นายสุภาพ แปน แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่ทำงานในเรือประมง กล่าวว่า ตนจะออกเรือหาปลาประมาณ ๒-๓ วันแล้วกลับเข้าฝั่ง ความเป็นอยู่ในเรือประมงดี ไม่มีการบังคับกดขี่แต่อย่างใด    และได้รับค่าจ้างทุกเดือนไม่มีการค้างค่าจ้าง ซึ่งปีหนึ่งจะหยุดกลับประเทศช่วงเทศกาลวันสงกรานต์
            ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีเรือประมง ๗๖๕ ลำ เจ้าของกิจการนายจ้าง ๕๕๐ ราย แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนทำงานประมง ๘,๕๐๗ คน เป็นแรงงานต่างด้าวพม่า ๔,๗๖๖ คน กัมพูชา ๓,๓๖๑ คน และลาว ๒๕๐ คน (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๗)

#############################
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
๒๑ มกราคม ๒๕๕๘
กัณติภณ คูสมิทธิ์ ข่าว ภาพ

Tags:

TOP