Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

“พล.ต.อ.อดุลย์” เข้ม! กวดขันนายจ้างใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

pll_content_description

      รมว.แรงงาน สั่งเข้ม กรณีการใช้แรงงานบังคับในบริษัทโรงน้ำแข็งบางศรีเมือง เร่งกวดขันนายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง เพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของแรงงาน ป้องกันปัญหาการจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม 
     วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (ศปก.รง.) ว่า วันนี้ พลตำรวจเอกอดุลย์  แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเข้มงวดเกี่ยวกับการใช้แรงงานในลักษณะบังคับ และไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว จากกรณีที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้รับการประสานจากมูลนิธิ LPN ว่า มีลูกจ้างหลบหนีมาขอความช่วยเหลือเนื่องจากทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้าง สภาพการจ้างไม่เป็นธรรม ภายในบริษัทโรงน้ำแข็งบางศรีเมือง 1999 จำกัด ต.บางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี ประกอบกิจการผลิตน้ำแข็ง มีลูกจ้างทั้งหมด 23 คน ประกอบด้วย สัญชาติไทย 5 คน เป็นชาย 4 หญิง 1 สัญชาติกัมพูชา 11 คน เป็นชายทั้งหมด และสัญชาติลาว 7 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 2 คน จากการตรวจสอบสภาพการจ้างการทำงานในเบื้องต้น พบว่า นายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้อง ดังนี้ 1) พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ในเรื่อง นายจ้างจ้างลูกจ้างที่เป็นคนต่างด้าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 8 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 111 2) พรบ.คนเข้าเมือง 2522 ในเรื่อง นายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 81 และให้ที่พักพิงแรงงานต่างด้าว 3) ความผิดตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นายจ้างไม่แจ้งแรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ตามมาตรา 45 (1) นายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามมาตรา 90 และนายจ้างหักค่าจ้าง เนื่องจากนำหนี้อื่นมาหัก ตามมาตรา 76 พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 
     “ในเบื้องต้นกระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ประสานส่งตัวลูกจ้างให้แก่ สภ.บางศรีเมือง รวมถึงประสานเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และพนักงานสอบสวน ในการเข้าร่วมคัดแยกผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จากจำนวนลูกจ้างทั้งหมด 23 คน พบว่า เข้าข่ายค้ามนุษย์ 8 คน ไม่มีใบอนุญาตทำงาน 1 คน ไม่เข้าข่ายค้ามนุษย์ 9 คน และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิด เนื่องจากเป็นหัวหน้าคนงาน 2 คน ซึ่งรมว.แรงงาน ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มแข็ง เพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของแรงงาน และป้องกันปัญหาการจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรมต่อไป”  นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด 
     หากพบเบาะแสการใช้แรงงานในลักษณะบังคับหรือการจ้างงานแบบผิดกฎหมายแรงงาน สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

+++++++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ / 
ดาวนภา  เนาวรังษี – ข่าว
ปริยรณ  พรหมสาขา ณ สกลนคร – ภาพ
19 กุมภาพันธ์ 2561

Tags:

TOP