Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

‘พิพัฒน์’ปาฐกถาเวที ONE TVET ชูนโยบายเครดิตแบงก์ แรงงานจับมือภาคการศึกษา ผู้ประกอบการ Up skill กำลังคนมีงานทำป้อนเศรษฐกิจใหม่

pll_content_description

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.00 น.นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถางานแถลงข่าว PRESS CONFERENCE & PANEL SESSION “ONE TVET” โดยมี นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมเบญจนฤมิตร ชั้น 4 สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ถนนพญาไท กรุงเทพมหานคร

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถางานแถลงข่าว PRESS CONFERENCE & PANEL SESSION “ONE TVET ในวันนี้ รัฐบาลและกระทรวงแรงงาน มีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในการผลิตกำลังคนในภาคการศึกษา และภาคแรงงานเพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกำลังแรงงานรุ่นใหม่ ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งระบบ มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะฝีมือในทุกระดับอย่างมีมาตรฐาน เพื่อการประกอบอาชีพ มีรายได้ มีงานทำ มีสวัสดิการ และเป็นกำลังแรงงานคุณภาพต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือสร้างระบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับตลาดแรงงาน ประสานบทบาทระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีภารกิจหลักในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และพัฒนาแรงงาน ที่อยู่ในตลาดแรงงานให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงประสบการณ์หรือผลการพัฒนาฝีมือแรงงานกับระบบธนาคารหน่วยกิตของประเทศ ให้มีวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น และทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในภาคส่วนต่างๆ ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากร สาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) จังหวัดชลบุรี เป็นหน่วยงานเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Excellence Training Center) ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดำเนินการ จัดฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ เช่น การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการผลิต (AI) การออกแบบชิ้นส่วนในระบบอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ ระบบขนถ่ายอัตโนมัติ การประยุกต์ใช้ SCADA (สกาดา) ในงานอุตสาหกรรม และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กำหนดเป้าหมายดำเนินการบูรณาการร่วมกับเครือข่ายต่างๆ เช่น สถานศึกษาในพื้นที่ บริษัท เอกชน เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ เป็นต้น เพื่อพัฒนากำลังแรงงานให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือที่สูงขึ้น สอดคล้องกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

Tags:

TOP