นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ผลักดันโครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง โดยมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าไปส่งเสริมให้นายจ้างสนับสนุนงบประมาณ พันธุ์พืช/พันธุ์สัตว์ หรือพื้นที่ว่างเปล่าให้ลูกจ้างใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เพื่อนำผลผลิตที่ได้ไปบริโภคหรือแบ่งปันกันในครัวเรือน และนำส่วนที่เหลือไปจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว รวมทั้งยังเป็นแนวทางพัฒนาอาชีพเสริมให้แก่ลูกจ้างที่กำลังเข้าสู่วัยเกษียณ ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระราชปณิธานของรัชกาลปัจจุบัน ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้นายจ้าง ลูกจ้าง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานที่มุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่และขนาดเล็กหลายแห่ง นายจ้างลูกจ้างทุกรุ่นทุกวัย เข้าร่วมโครงการและมีผลตอบรับที่ดีมาก โดยไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องยากลำบากเพราะทุกคนรู้จักการประยุกต์ใช้ให้เป็น ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2564 – 2567 มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการแล้ว 1,237 แห่ง ลูกจ้างได้รับประโยชน์ 156,608 คน ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ คิดเป็นมูลค่า 109.52 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงแรงงานตั้งเป้าเดินหน้าเพิ่มกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้นอีกในปีต่อ ๆ ไป เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อทั้งลูกจ้างและนายจ้างมากที่สุด
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้หลายคนยังเข้าใจคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” แบบผิด ๆ คิดว่าแค่ปลูกผัก เกี่ยวข้าว และความเหนื่อยยาก แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือการนำไปถ่ายทอดอย่างไม่ถูกต้องจนสังคมสับสน ทั้ง ๆ ที่ความจริง “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเรื่องของหลักความคิดที่สอนให้คนรู้จักความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บนพื้นฐานของความรู้และคุณธรรม และสามารถนำไปปรับใช้แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตได้กับคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกอาชีพ เรียกว่า การใช้ชีวิตตามอัตภาพ ไม่มากหรือน้อยเกินไปจนตัวเองเดือดร้อน