เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 13.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสวีเดน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการประกันสังคม และที่ปรึกษา (ชุดที่ 14) รวมถึงผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เข้าพบหารือกับผู้บริหารของสำนักงานบำนาญสวีเดน (Swedish Pension Agency) ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การที่ผมพร้อมด้วยท่านปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการประสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่14) เดินทางเยือนประเทศสวีเดนในครั้งนี้ก็เพื่อมาศึกษาดูงาน ที่สำคัญถือโอกาสนี้ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการพัฒนาระบบบำนาญ มี 3 ประเด็นการศึกษาหารือ การบริหารจัดการสำหรับเงินบำนาญเพื่อให้เพียงพอกับประชาชนทุกคน การบริหารลงทุนเงินบำนาญให้ยั่งยืน และการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีและการนำนวัตกรรมด้านดิจิทัลมาใช้เข้ามา ให้ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชนอย่างทั่วถึง ในการให้บริการผู้ประกันตน โดยได้แลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบำนาญให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางประชากรในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาทิ วิธีการกำหนดอายุเกษียณที่ยืดหยุ่นและเหมาะสม รวมถึงแนวทางการคำนวณบำนาญเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของผู้รับบำนาญในระยะยาว
“การหารือในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของกระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม ในการพัฒนาระบบบำนาญให้ตอบโจทย์กับสังคมสูงอายุ ซึ่งขณะนี้ได้ ดำเนินการวางแผนในการปฎิรูประบบประกันสังคมไปบ้างแล้วรวมถึงการยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มความสะดวกและโปร่งใสในการจัดการบำนาญ ตลอดจนการสร้างมาตรฐานใหม่ที่สามารถนำไปปรับใช้กับระบบประกันสังคมในประเทศไทยได้ในอนาคต” นายพิพัฒน์ กล่าว
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กว่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเพื่อศึกษาด้านการลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุน โดยสำนักงานบำนาญสวีเดน รายงานว่า การดำเนินการ มีหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วยการกำหนดดัชนีการจ่ายบำนาญที่ผันแปรตามปัจจัยต่างๆ อาทิ ค่าจ้างเฉลี่ย ตลอดอายุการทำงาน และอายุขัยเฉลี่ยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีการดำเนินการจัดตั้งกองทุน Buffer Fund เพื่อบริหารจัดการส่วนต่างระหว่างเงินสมทบขาเข้าและเงินบำนาญสิทธิประโยชน์ขาออก ในแต่ละช่วงเวลาตลอดจนมีการกำหนดสูตรบำนาญที่สร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนไว้ในข้อกฎหมายให้เกิดความชัดเจน
ทางด้านคณะกรรมการประกันสังคม และที่ปรึกษา คุณสิริวัน รมฉัตรทอง กล่าวต่อว่า ได้เรียนรู้ว่าประเทศเราควรจะปรับตัวในทิศทางไหนในสังคมผู้สูงวัย ระบบแบบเดิมควรมีนวัตกรรมตัวอย่างที่ดีอย่างสวีเดน ถึงแม้จะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและวินัย แต่ควรเริ่มทำ
คุณธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้แยกบริหารเฉพาะกองทุนบำนาญแบบสวีเดน ซึ่งจากที่มาศึกษาก็อยากจะปรับปรุงให้ประกันสังคมของเรา มีการพัฒนาเรื่องบำนาญในอนาคตมากขึ้น
คุณสมจินต์ ศรไพศาล กล่าวว่า ได้ประโยชน์เยอะมาก สมกับการที่สวีเดน มีโครงสร้างของการจัดการบำนาญเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และที่น่าสนใจมากคือการพยากรณ์ว่ากองทุนจะยืนยาวได้แค่ไหน เมื่อทราบแล้วก็สามารถออกแบบรูปต่างๆ ได้
คุณแอนนา เพทเทอชอง เวสเทอเบ อธิบดีสำนักงานบำนาญสวีเดน กล่าวว่า ยินดีต้อนรับคณะท่านรัฐมนตรี ผู้บริหาร และ คณะกรรมการ ที่ปรึกษา ประกันสังคมทุกท่าน สำนักงานบำนาญสวีเดนถูกก่อตั้งมายาวนานกว่า 100 ปี และมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นหนึ่งในระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลกโดยมีการจ่ายสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายกว่า 50 สิทธิประโยชน์ ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ตั้งแต่เกิดยันเสียชีวิต และมีการสร้างบำนาญที่เพียงพอสำหรับประชาชนชาวสวีเดนทุกคน โดยใช้การบูรณาการระหว่างเงินสมทบจากภาครัฐ นายจ้าง ผู้ประกันตน และภาคสมัครใจ รวมถึงมีระบบการจูงใจให้ผู้ประกันตนอยู่ ในระบบยาวนานขึ้น จากอายุเกษียณขั้นต่ำ ที่มีการทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกำหนดอยู่ที่ 63 ปี รวมถึงมีระบบจูงใจให้ผู้ที่ครบอายุเกษียณขั้นต่ำสามารถรับบำนาญเพียงบางส่วนได้ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ
“สำนักงานบำนาญสวีเดน ยินดีให้ความร่วมมือทางด้านข้อมูล และสนับสนุนการทำงานของสำนักงานประกันสังคมประเทศไทยอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งอยากเห็นการเติบโตก้าวไปข้างหน้าเป็นประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนทุกคนตามที่ตั้งใจไว้ และ ถ้ามีโอกาสจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศไทย” คุณแอนนา กล่าวปิดท้าย