วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนาม MOU ระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เพื่อยกระดับการบริหารแรงงานด้วยแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรในประเทศไทย เป็นองค์กรต้นแบบขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการแรงงานในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรสู่ระดับสากล โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานเพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการทุกประเภทโดยเฉพาะในธุรกิจฟาร์มสุกรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การเลือกปฏิบัติ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ส่งผลให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน ซึ่งขอชื่นชม ซีพีเอฟ ที่แสดงความมุ่งมั่นในการส่งเสริม สนับสนุนให้สถานประกอบกิจการ ตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี สำหรับฟาร์มสุกรในประเทศไทยไปใช้บริหารจัดการแรงงาน ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่สถานประกอบกิจการอื่นต่อไป
นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2566 กรมได้ร่วมมือกับองค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรในประเทศไทยขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มสุกร นำ GLP (Good Labour Practices) ไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงสภาพการจ้าง และสภาพการทำงานของฟาร์มสุกรให้สอดคล้องตามกฎหมายอย่างมีจริยธรรม โดยการลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนเพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และกรมพร้อมสนับสนุนความรู้ทางวิชาการและเทคนิคต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการที่สนใจนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีในฟาร์มสุกรไปใช้ในสถานประกอบกิจการ
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท ซีพีเอฟ กล่าวเสริมว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานในฟาร์มและโรงงานในทุกกลุ่มธุรกิจ สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานแรงงานสากล สร้างงาน ที่มีคุณค่า ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานในภาคเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหาร สอดคล้องกับหลักปรัชญาการดำเนินธุรกิจ “3 ประโยชน์” สู่ความยั่งยืน คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนและบริษัท
สำหรับธุรกิจสุกร ซีพีเอฟมีเป้าหมายนำหลักแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ GLP ใช้กับฟาร์มสุกรของบริษัทฯ รวม 106 แห่ง ครบ 100 % ภายใน 1 ปี นี้ จะขยายผลดูแลพนักงานตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจสุกรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรแก่เกษตรกรรายย่อย (Contract Farming) ประมาณ 4,000 รายทั่วประเทศได้นำหลัก GLP ไปใช้บริหารจัดการแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีเอฟมาจากห่วงโซ่การผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมและโลก
ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรในประเทศไทยเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน โทรศัพท์ 02 660 2108 และสายด่วน กสร. 1506 กด 3 หรือ 1546