Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

รง.ย้ำ พ.ร.ก.ต่างด้าว หวังจัดระเบียบแรงงานตามมาตรฐานสากล เกิดประโยชน์ต่อชาติรอบด้าน

pll_content_description

           ‘โฆษกแรงงาน’ เผย พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่ รัฐบาลเจตนาจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ลดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ยืนยัน ไม่มีนโยบายเปิดจดทะเบียนรอบใหม่ นายจ้างต้องการใช้ต่างด้าวติดต่อจัดหางานทั่วประเทศ นำเข้าผ่านเอ็มโอยูเท่านั้น

 

          นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับไว้ด้วยกันคือ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 ซึ่งกฎหมาย 2 ฉบับ ยังมีช่องว่างที่ไม่สามารถทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ กรณีคนงานหนีออกจากงานหรือจากนายจ้าง ซึ่งกฎหมายเดิมไม่ระบุให้นายจ้างต้องมาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ กฎหมายใหม่จึงให้นายจ้างต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ ส่วนการเก็บเงินจากบริษัทจัดหางานเพื่อเป็นหลักประกันกรณีลูกจ้างออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง แต่เดิมจะนำเงินดังกล่าวส่งกลับประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันพบว่า การเปลี่ยนนายจ้างจะทำให้เกิดความเสียหายและมีค่าใช้จ่ายจึงต้องนำเงินส่วนนี้มาใช้ในกรณีเปลี่ยนนายจ้างด้วย นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังมีคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนงาน เพื่อพิจารณาการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามความเหมาะสมเป็นมาตรฐาน
          นายอนันต์ชัย ยังกล่าวอีกว่า การออกพระราชกำหนดฯ ในครั้งนี้ รัฐบาลหวังจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ และเป็นการป้องปรามเพื่อไม่ให้นายจ้างหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายและเห็นความสำคัญของการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย ลดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพราะหากนายจ้างปฏิบัติถูกต้องจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่ากรณีที่ทำผิดแล้วถูกดำเนินคดี จึงหวังให้ผู้ประกอบการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เนื่องจากการนำพาแรงงานต่างด้าวเข้ามาในระบบ MOU ปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยาก และยืนยันว่ากระทรวงแรงงานไม่มีนโยบายเปิดจดทะเบียนรอบใหม่ ซึ่งหากนายจ้างรายใดประสงค์จะใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น โดยสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานเขตทุกเขต หรือสอบถามได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
           แม้ว่ากฎหมายฉบับใหม่จะออกมาและมีผลบังคับใช้แล้ว การตรวจสถานประกอบการของเจ้าหน้าที่ก็จะมีการตรวจปกติตามแผนที่วางไว้ ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – พฤษภาคม 2560 มีการตรวจสถานประกอบการไปแล้วทั้งสิ้น 58,373 แห่ง มีแรงงานต่างด้าวผ่านการตรวจไปแล้ว 385,827 คน พบว่า มีสถานประกอบการปฏิบัติไม่ถูกต้องจำนวน 1,460 แห่ง แรงงานต่างด้าว 12,358 คน คิดเป็นร้อยละ 3 ของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในสถานประกอบการที่ผ่านการตรวจ

——————————————-

กลุ่มงานโฆษกและการข่าว/
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
กัณติภณ คูสมิทธิ์ – ภาพ/
กรมการจัดหางาน – ข้อมูล/
27 มิถุนายน 2560

 

Tags:

TOP