Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

รมว.“พิพัฒน์”หารือทูตกัมพูชา ส่งเสริมความร่วมมือข้อตกลงด้านการจ้างแรงงานถูกกฎหมาย

pll_content_description

     วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 15.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายฮุน ซาเรือน (Mr. Hun Saroeun) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย และคณะ เข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในโอกาสเข้ารับหน้าที่ และขอบคุณกระทรวงแรงงาน รวมถึงรัฐบาลไทยที่ให้การดูแลแรงงานกัมพูชาในประเทศไทยเป็นอย่างดี โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นายสันติ นันตสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงานร่วมด้วย ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

     นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผมขอขอบคุณท่านทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย และคณะ ที่ได้ให้เกียรติมาเยี่ยมเยียนกระทรวงแรงงานในครั้งนี้ ไทยและกัมพูชา ได้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานและข้อตกลงด้านการจ้างแรงงานร่วมกันซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันการเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ และปัจจุบัน กระทรวงแรงงานของไทยและกระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพกัมพูชา อยู่ระหว่างการหารืออย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำร่าง MOU และ Agreement ฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของทั้งสองประเทศ และกำหนดให้มีผลบังคับใช้ต่อเนื่องจากฉบับเดิม ซึ่งผมคาดหวังว่าไทยและกัมพูชาจะได้ลงนาม MOU และ Agreement ฉบับใหม่ได้ในเร็วๆ นี้

  สำหรับข้อเสนอการจัดทำ Agreement ฉบับใหม่ เรื่องประมงเป็นการเฉพาะที่ฝ่ายกัมพูชาเสนอมานั้น ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าการดูแลแรงงานประมงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 และมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบของความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกัน โดยไม่ซ้ำซ้อนกับ MOU ในเรื่องการจัดส่งแรงงานที่มีอยู่แล้ว ส่วนการออกเอกสารประจำตัวแรงงานกัมพูชาหรือการพิสูจน์สัญชาติ ขอให้ท่านทูตช่วยประชาสัมพันธ์ให้แรงงานกัมพูชามายื่นขอรับเอกสารประจำตัว (Travel Document (TD)) ผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ตามมติ ครม. เมื่อเดือนตุลาคม เนื่องจากพบว่า ยังมีแรงงานกัมพูชาอีก 95,000 คน ที่ยังไม่ดำเนินการ และหากไม่สามารถดำเนินการภายในกำหนด แรงงานกลุ่มดังกล่าว จะไม่สามารถทำงานในประเทศไทยได้ และจะต้องถูกผลักดันกลับประเทศ

    อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มีการประชาสัมพันธ์เอกสารเป็นภาษากัมพูชา และมีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนทั้งทางสายด่วน FACEBOOK ไลน์ โดยจ้างผู้ประสานงานด้านภาษาที่จะเป็นล่ามให้บริการด้วย ผมขอให้ท่านทูตช่วยประชาสัมพันธ์ให้แรงงานสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการติดต่อกระทรวงแรงงานหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงาน ด้านความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไทยและกัมพูชามีความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานมาเป็นเวลานานทั้งโครงการการฝึกอบรมให้แก่ตัวแรงงานเองและครูฝึกอาชีพกัมพูชา โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานไทย – กัมพูชา ณ ปูนพนม ซึ่งปีนี้ ได้รับทราบว่า กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ให้งบประมาณสนับสนุนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ฝึกอบรมทักษะให้แก่ครูฝึกและเจ้าหน้าที่ของกัมพูชา ในสาขาต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้ายานยนต์ และเครื่องปรับอากาศอีกด้วย หากทางกัมพูชาต้องการให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือในด้านใดอีกขอให้แจ้งเพิ่มเติมได้

  “ปัจจุบันมีแรงงานสัญชาติกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทย จำนวน 483,368 คน ซึ่งถือเป็นแรงงานที่นายจ้างส่วนใหญ่ให้ความชื่นชมในความขยันขันแข็งและความใส่ใจในการทำงานมากกลุ่มหนึ่ง และแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยถือว่ามีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยด้วยอีกทางหนึ่ง” นายพิพัฒน์ กล่าว

     ด้าน นายฮุน ซาเรือน (Mr. Hun Saroeun) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผมขอขอบคุณกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้านแรงงานกับฝ่ายกัมพูชา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการหารือในวันนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาจะยังคงเหนียวแน่นเช่นนี้ต่อไป

Tags:

TOP