Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

รมว.พิพัฒน์ มอบ เลขาอารีฯ เปิดเสวนาวิชาการ ความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทย

pll_content_description

         วันที่ 13 มีนาคม 2568 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการเสวนาวิชาการหัวข้อ “ความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย” โดยมี นายสันติ นันตสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวกรจิรัฏฐ์ พงจันทร์ศธร ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมจุมภฏ พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
 
 
          นายอารี กล่าวว่า ผมมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้มาเป็นประธานเปิดโครงการเสวนาหัวข้อ “ความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย” ในวันนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 100 คน กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย และเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง การทารุณกรรมต่อแรงงานต่างด้าว โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กระทรวงแรงงานได้มีกำหนดนโยบาย “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจ แรงงานไทยมั่นคง” ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การบังคับใช้กฎหมายแรงงานเพื่อดูแลสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวในภาคประมง ไม่ให้ถูกนายจ้างละเมิดสิทธิ์กลายเป็นการถูกบังคับใช้แรงงานหรือบริการ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย 
 
            นายอารี กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานยังได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษา วิเคราะห์ สภาพปัญหา ผลกระทบ ข้อมูลสถานประกอบการ การจ้างแรงงาน และบริบทที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการในกลุ่มสินค้าปลายน้ำ ประเภท ปลาป่น อาหารสัตว์ และน้ำมันปลา ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลของไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูล ข้อเท็จจริงที่รอบด้าน ซึ่งจะมาจากการแสวงหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม (NGO) ที่ร่วมกันสะท้อนปัญหา และหาแนวทางในการสร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงแรงงาน พร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการยกระดับการขับเคลื่อนการต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 รวมทั้งสามารถถอดรายการสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ (TVPRA List) และรายการสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กบังคับหรือแรงงานเด็กขัดหนี้ (E.O. List) ได้
 
           สำหรับการเสวนาทางวิชาการดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ร่วมกับศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย – ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อบูรณาการความร่วมมืออันจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน ซึ่งจะเป็นความสำเร็จร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรนายจ้าง และองค์กรลูกจ้างต่อไป

Tags:

TOP