Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

รมว.แรงงานชู “เศรษฐกิจพอเพียง” และ”ประชารัฐ” ยุติยากจนในเวทีโลก

pll_content_description

       นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เข้าร่วมประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization Conference : ILC) ระหว่างวันที่ 4 – 8 มิ.ย. 59 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ในฐานะผู้แทนฝ่ายรัฐบาล




Preview

Download Images

           โดยมีนายวรพงษ์ รวิรัฐ ผู้แทนนายจ้าง และนายมานะ จุลรัตน์ เป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง มีสมาชิกร่วมประชุม 187 ประเทศ 3,091 คน แบ่งเป็นผู้แทนภาครัฐ 336 คน นายจ้าง 165 คน ลูกจ้าง 166 คน และที่ปรึกษา 2,352 คน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ของ ILO เป็นสมัยที่ 105 ได้กำหนดวาระสำคัญ คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนไปข้างหน้าอีก 15 ปี (ค.ศ. 2030) โดยผู้แทนฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ร่วมปราศรัย เพื่อต่อสู้กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งวิธีการขับเคลื่อนและดำเนินการตามวาระไปสู่ ค.ศ.2030 จะต้องใช้หุ้นส่วนระดับโลก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นความยากจนที่สุดและความเสี่ยงที่สุด และด้วยการมีส่วนร่วมของทุกประเทศ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั้งหมดด้วย 
            นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่าในวันที่ 7 มิ.ย.พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมใหญ่ ณ ห้องสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติในเรื่อง “ความริเริ่มในการยุติความยากจน” ซึ่งกล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ และขับเคลื่อนโดยใช้กลไก “ประชารัฐ” ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมกำหนดนโยบาย 3 โอกาส เพื่อขจัดความยากจน โดยมีเป้าประสงค์หลักคือให้คนไทยทุกกลุ่มทุกคนมีงานทำ ทั้งแรงงานที่อยู่ในระบบและนอกระบบ สำหรับโอกาสแรกคือโอกาสในการตั้งต้น ทั้งจัดหางานและการให้ทุนประกอบอาชีพ และโอกาสในการพัฒนาทักษะฝีมือให้ดียิ่งขึ้น ประการสุดท้าย คือ โอกาสในการได้รับความคุ้มครองโดยมีหลักประกันความมั่นคงทางสังคมที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งได้กล่าวต่อที่ประชุมว่าประเทศไทยจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและนานาประเทศ โดยจะเดินไปด้วยกัน ด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งที่ประชุมต่างชื่นชมทิศทางการพัฒนาข้างต้นตามนโยบายของรัฐบาลไทย ซึ่งนอกจากสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ของ ILO แล้วยังเห็นว่าจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืนด้วย และในโอกาสเดียวกันนี้ได้ยื่นสัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล กับนายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยใหญ่ ILO พร้อมได้กล่าวว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นความสำคัญ จึงเริ่มดำเนินการจนเป็นผลสำเร็จในปีนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งเจ้าของเรือ คนประจำเรือและรัฐบาลเองด้วย เป็นการยกระดับมาตรฐานแรงงานทางทะเลของโลก และรู้สึกเป็นเกียรติ ภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในกลไกความร่วมมือนี้กับประเทศสมาชิก ILO โดยแต่ละฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน คือ
             – เจ้าของเรือ สามารถขจัดอุปสรรคในการเดินเรือให้แก่เจ้าของเรือ และได้รับความสะดวกในการเทียบท่ายังประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาแล้ว เนื่องจากมีใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลตามที่อนุสัญญากำหนด
             – คนประจำเรือ จะ ได้รับการคุ้มครองแรงงานที่มีมาตรฐานในระดับสากลในทุกกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ได้รับการคัดเลือกและบรรจุงาน ช่วงเวลาทำงานและเวลาการดำรงชีวิตบนเรือนอกเวลางานกระทั่งได้รับการส่งตัวกลับภูมิลำเนา
            ส่วนสุดท้ายคือรัฐบาล จะสามารถรักษากองเรือไว้ได้ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศด้วย

 

“OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER TOGETHER”
“เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะที่นี่คือ บ้านของเรา ประเทศไทยของเรา”

 

 

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/

Tags:

TOP