Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

รมว.แรงงาน ต้อนรับเอกอัครราชทูตฯ กระชับความสัมพันธ์ ไทย – เมียนมาร์

pll_content_description

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้อนรับเอกอัครราชทูตฯ เมียนมาร์ เผย นโยบายจัดระบบแรงงานต่างด้าว คำนึงถึงความมั่นคง สภาพแวดล้อมคนไทย หลักสิทธิมนุษยชน เป็นมาตรฐานสากล ลดระดับการประพฤติมิชอบของ ขรก.ให้หมดไป พบเห็นพฤติกรรมเจ้าหน้าที่รีดไถต่างด้าว ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและให้ออกจากราชการ ชี้ ปัญหาเร่งด่วนออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานประมงทะเล นำเข้า ครม.พิจารณาได้ทันในสัปดาห์หน้า ด้านเอกอัครราชทูตฯ เมียนมาร์ เผยข้อมูลไม่เป็นทางการแรงงานเมียนมาร์มาทำงานในไทยราว 2.7 ล้านคน ฝากย้ำผู้ประกอบการถึงข่าวลือ ชาวเมียนมาร์กลับประเทศไม่เป็นความจริง ยอมรับไม่อยากกลับบ้าน คุ้นเคยกับการทำงานในไทย



Preview

Download Images

           พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับนายอู วิน หม่อง (H.E. Mr. U Win Maung) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อหารือข้อราชการและแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเข้ารับตำแหน่ง ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยได้หารือเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ว่า สถานการณ์ด้านแรงงานของไทยในขณะนี้ การทำนโยบายต้องคำนึงถึงความมั่นคง สภาพแวดล้อมของคนไทยเป็นเรื่องแรก ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน การจัดระบบแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในไทยก็ต้องเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามการประพฤติมิชอบของข้าราชการ การรีดไถของเจ้าหน้าที่ ถือเป็นเรื่องที่น่าอับอายและเป็นรอยด่างของไทย ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้ลดระดับและหมดไปในที่สุด อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานพยายามหากฎ ระเบียบ ข้อบังคับ วิธีการที่ดีที่สุดเพื่อกำหนดเป็นข้อปฏิบัติมาดำเนินการแก่แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายมากที่สุด ถึงแม้จะมีข้อจำกัดแต่รัฐบาลชุดนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว
            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดระบบแรงงานต่างด้าวจากนี้จะนำแรงงานที่ผิดกฎหมาย พยายามทำให้ถูกกฎหมายมากที่สุด ประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อให้เป็นที่รับรู้ของรัฐทั้งสองฝ่าย บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาระบบแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้ ไทยไม่เคยมีประสบการณ์ที่มีการจดทะเบียนมากกว่าล้านคน ทั้งนี้กระทรวงแรงงานของไทยยินดีสนับสนุนการดำเนินการตามความสามารถทุกประการ และความร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดีต่อกันในอนาคต ส่วนกรณีผู้ถือบัตรสีชมพูที่เดินทางกลับประเทศไปทำบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน และถูกเจ้าหน้าที่รีดไถเงินนั้น เรื่องดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้กำชับถึงการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ หากพบเห็นจะถูกดำเนินคดีและถูกให้ออกจากราชการโดยทันที ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนในขณะนี้พบว่า บางครั้งมีแรงงานประมงถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้าของเรือ โดยกระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงเรื่องการคุ้มครองแรงงานประมงทะเล เพื่อคุ้มครองดูแลแรงงานประมงทะเลโดยเฉพาะ ทั้งนี้การพักผ่อน การตอบแทน การจ่ายเงินจะมีกฎหมายคุ้มครองทั้งสิ้น ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ “เพราะความต้องการแรงงานในไทยสูงมาก แรงงานในประเทศเพื่อนบ้านจึงเข้ามา 4 – 5 ล้านคน ต่อไปนี้การนำแรงงานเข้ามาในไทย จะต้องจัดระเบียบอย่างดี มิฉะนั้นจะเป็นปัญหากับประเทศไทย การประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านจะใกล้ชิดมากขึ้น บางอย่างต้องยืดหยุ่นระยะเวลาให้การทำงานเหมาะสมและเป็นไปได้จริง ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว ด้าน นายอู วิน หม่อง (H.E. Mr. U Win Maung)
            เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ชาวเมียนมาร์เข้ามาทำงานในไทยมากที่สุด จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการพบว่ามีจำนวนกว่า 2.7 ล้านคน หลายปีที่ผ่านมามีแรงงานเมียนมาร์ที่จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว 1.7 ล้านคน หลังจากรัฐบาลปัจจุบันเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีสัญชาติเมียนมาร์ราว 5 แสนกว่าคน เมื่อรวมกันแล้วเป็น 2.2 ล้านคนโดยประมาณ  อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่าจะให้ความร่วมมือกับทางการไทยในการตรวจพิสูจน์สัญชาติต่อไป เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่แรงงานเมียนมาร์ที่ทำงานในประเทศไทย การเข้าเมืองผิดกฎหมาย การขายแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ทำงานบนเรือประมง ส่วนข่าวลือที่ว่าแรงงานเมียนมาร์จะกลับไปทำงานที่ท่าเรือน้ำลึกทวายนั้น เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากการทำงานที่ท่าเรือน้ำลึกทวายอาศัยผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้น ซึ่งแรงงานเมียนมาร์ส่วนใหญ่คุ้นเคยและสนุกสนานกับการทำงานในไทยอยู่แล้ว เพราะเขาทำงานในไทยจนเกิดความเคยชิน ไม่อยากกลับบ้าน จึงอยากฝากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้กับผู้ประกอบการด้วย ส่วนประเด็นที่หารือข้อราชการที่สำคัญ คือ ทางการเมียนมาร์ต้องการให้ฝ่ายไทยต่ออายุวีซ่าให้กับกลุ่มแรงงานที่ต่อวีซ่าไม่ทัน รวมทั้งกลุ่มที่วีซ่าหมดอายุไปแล้ว เนื่องจากไม่ได้เป็นความผิดของแรงงานเหล่านี้ แต่ทางการเมียนมาร์มีข้อจำกัดด้านเวลาจึงทำให้วีซ่าของแรงงานขาดอายุไป ซึ่งขอให้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่วีซ่าขาดอายุ ไม่ต้องเสียค่าปรับ ส่วนผู้ที่ถือบัตรสีชมพู ขณะนี้มีกว่า 5 แสนราย ทางการเมียนมาร์กำลังดำเนินการตรวจพิสูจน์สัญชาติ และออกหนังสือเดินทางให้ แต่มีปัญหาเรื่องระยะเวลาและการดำเนินการในการยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และการออกวีซ่า อย่างไรก็ตามทราบว่าทางฝ่ายไทยดูแลแรงงานเมียนมาร์ที่อยู่ในไทยและให้สิทธิอย่างเต็มที่ ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงจำเป็นที่จะให้ความสำคัญกับการจัดระบบแรงงานให้มีความเข้มงวดและรัดกุมต่อไป
———————————
 กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
30 ตุลาคม 2557

Tags:

TOP