Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” เปิดงานครบรอบ 38 ปี “วัน จป.”ตั้งเป้าหมายใหม่ อัตราการประสบอันตรายจากการทำงานลดลงเหลือ 1% ชื่นชม ปี 66 ลดลงเกินเป้า

pll_content_description

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” เป็นประธานในพิธีเปิดงานครบรอบ 38 ปี “12 พฤศจิกายน วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” ชูนโยบาย Safety Thailand ตั้งเป้าอัตราการประสบอันตรายลดลงร้อยละ 1 ต่อปี พร้อมชื่นชม ปี 66 ลดลงเกินเป้า
.
วันที่ 10 พ.ย. 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยในฐานะประธานในพิธีเปิดงาน “12 พฤศจิกายน วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ประจำปี พ.ศ. 2567” ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 ว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญในการดูแลด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของผู้ใช้แรงงาน ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยยกระดับการขับเคลื่อนตามนโยบายความปลอดภัย และอาชีวอนามัยของประเทศไทย Safety Thailand และมีการกำหนดให้นายจ้างของสถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีบุคลากรเข้ามาช่วยบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ในสถานประกอบกิจการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ซึ่งเรียกว่า “เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” หรือ จป. ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการให้คำปรึกษา แนะนำ ดำเนินการตรวจสอบ ประเมินอันตรายในการทำงานให้แก่นายจ้างและลูกจ้าง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดสภาพความปลอดภัยต่อคนทำงาน ปราศจากอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน โดยในช่วงหลายปีผ่านมา และในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นี้ กรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงานได้กำหนดเป้าหมายของการประสบอันตรายฯ (กรณีร้ายแรง) ต้องลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 4
.
ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าแนวโน้มอัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน (กรณีร้ายแรง) ลดลงอย่างต่อเนื่องถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่พบว่าอัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน (กรณีร้ายแรง) ปี 2566 ลดลงร้อยละ 4.05 เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา
.
“ซึ่งตัวผมเองอยากจะเห็นว่า ความปลอดภัยใน แต่ละ สถานประกอบการ ตัวเลขควรจะต่ำกว่า 1% นั่นคือเป้าหมายที่พวกเราควรจะวิ่งเข้าไปถึงตรงจุดนั้นให้ได้” นายพิพัฒน์ กล่าว

ด้าน นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ในอดีตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน จะมีบทบาทเฉพาะในสถานประกอบกิจการของตนเองเท่านั้น แต่ต่อมา กรมฯ ได้มีการส่งเสริมให้มีการพัฒนา และขยายการมีส่วนร่วมออกสู่ภายนอกสถานประกอบกิจการ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2557 ได้มีการรวมตัวกันของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานในรูปแบบชมรม/สมาคมเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้ที่ปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยร่วมกับภาครัฐ และมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวน 90 ชมรมทั่วประเทศ อีกทั้งได้กำหนดให้วันที่12 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน” และผลักดันให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานประกอบกิจการ ตลอดจนชุมชนบริเวณโดยรอบให้เกิดการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย โดยนำความรู้ความสามารถขยายผลเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับชุมชนและสังคม ผ่านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อาทิ การให้ความรู้ด้านความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน และการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟในสถานศึกษา เป็นต้น

Tags:

TOP