รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยยอดผู้มาใช้บริการศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) 10 วัน กว่า 5,000 คน เร่งขยายศูนย์บริการร่วมในห้างสรรพสินค้า และจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อประชาชนทุกคนมีงานทำ ด้านสถานการณ์แรงงานต่างด้าวอยู่ในขั้นตอนกติกาของการตรวจสอบสัญชาติเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนประเด็นการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ……ที่มีกระแสข่าวว่าตัดสิทธิว่างงาน ‘คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ’ เพิ่มเครื่องมือตรวจวัดประสิทธิภาพตั้งคณะทำงานตรวจสอบการบริหารภายในกระทรวงแรงงาน
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมกระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 1/2558 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า กรมการจัดหางานรายงานว่าการเปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม – 28 มกราคม 2558 มีจำนวนผู้มาใช้บริการศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย กระทวงแรงงาน จำนวน 5,000 คน โดยส่วนใหญ่ใช้บริการหางานในประเทศ และต่างประเทศ รวมทั้งสอบถามและเบิกสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม นอกจากนี้มีแนวทางที่จะขยายการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมในจุดที่รัฐบาลจะมีการบริการแบบ One Stop Service ให้กับประชาชน โดยจะมีการตั้งศูนย์บริการฯ ร่วมที่บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด เพื่อการบริการประชาชนอย่างครอบคลุม รวมถึงการดำเนินการเร่งด่วนคือการเปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะเปิดศูนย์จัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ทั้งนี้ ในส่วนของสถานการณ์แรงงานต่างด้าว เจตนาของการจดทะเบียนและตรวจสัญชาติก็เพื่อให้เข้าสู่กติกาซึ่งได้เดินหน้าในการดำเนินการจับกุมต้องเป็นไปตามกฎหมายอยู่อย่างต่อเนื่อง สำหรับประเด็นการตรวจสัญชาติซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2558 นั้น ผู้ที่ตรวจสัญชาติเสร็จก็อนุญาตให้ทำงานได้ตามหลักการ อย่างไรก็ตาม การจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในขณะนี้ไม่กระทบกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เนื่องจากแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมจะมีนายจ้างอยู่แล้ว จึงเตรียมหาแนวทางการจัดการแรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ให้เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย เช่น การผลักดันกลับประเทศก่อนนำกลับเข้ามาในระบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ตามความต้องการของสถานประกอบการ นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงเพิ่มเติม เนื่องจากได้รับแจ้งจากสมาคมฯ ว่าขณะนี้แรงงานในภาคประมงขาดแคลน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ……ที่เป็นข่าวในกรณีตัดสิทธิว่างงาน สำหรับผู้ประกันตนที่ลาออกเอง ว่า เลยขั้นตอนของกระทรวงแรงงานไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเชื่อว่า หาก สนช. พิจารณาแล้วว่ามีผลกระทบ ก็จะเรียกผู้บริหารของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เข้าไปชี้แจง ซึ่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช. ได้ แต่ขณะเดียวกันก็คงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ หากกฎหมายผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้วและยังเห็นว่ายังมีความไม่สมบูรณ์เกิดขึ้น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสามารถจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอแก้ไขเพิ่มเติมในบางมาตราได้
“ส่วนตัวผมมองว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดก็ต้องดำเนินการไป ต้องมีการถกกันในที่ประชุมของ สนช. และถ้ากฎหมายดังกล่าวทำให้ประชาชนเสียสิทธิ์ สนช.ก็คงจะไม่ผ่านกฎหมายฉบับนี้ เช่นเดียวกันหากทุกอย่างมีเหตุมีผลมีหลักการก็คงดำเนินการต่อไป ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานพร้อมรับทุกอย่างบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เตรียมตั้งคณะทำงานตรวจสอบการบริหารราชการของกระทรวงแรงงาน (คตร.รง.) โดยมีปลัดกระทรวงแรงานเป็นประธาน และมีผู้ช่วยรัฐมนตรีกับฝ่ายหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษา คณะทำงานประกอบด้วย บุคลากรภายใน ได้แก่ ฝ่ายกฎหมายของแต่ละกรมของกระทรวงแรงงาน ส่วนหน่วยงานภายนอกที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการ อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งคณะทำงานฯนี้ต้องทำการตรวจสอบทุกเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนหรือตรวจสอบว่าอาจเข้าข่ายทุจริตโดยจะต้องรายงานภายใน 15 วันเพื่อรายงานความก้าวหน้าให้ทราบ
“ถือว่าเป็นความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดความโปร่งใส ยุติธรรม เพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ เพิ่มเครื่องมือในการทำงานของรัฐมนตรีให้มีประสิทธิภาพ ยืนยันว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ได้ตั้งมาสร้างความหวาดระแวงกับข้าราชการ เพราะข้าราชการในยุคนี้ตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
“บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/