รมว.แรงงาน ย้ำข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ประกันสังคม สร้างความโปร่งใสในกองทุนประกันสังคม สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับผู้ประกันตน แนะสร้าง ‘ความพอ’ ให้เกิดขึ้นในใจ พร้อมทำตัวเองให้ดีให้สะอาดและทำให้สังคมรับรู้ว่าโปร่งใสจริง
Preview
Download Images
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดการสัมมนาผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม “โครงการ สปส.โปร่งใส ร่วมใจต่อต้านคอร์รัปชั่น” ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ว่า เรื่องของการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องใหญ่ของคนทั้งโลก ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทย สำหรับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องทำ 2 เรื่อง คือ ‘ทำตัวเองให้ดีให้สะอาด’ และ ‘ทำให้สังคมรับรู้ว่าโปร่งใสจริง’ โดยอาศัยหลักการ 2 แนวทางคือ การรณรงค์สร้างaจิตสำนึก และการบังคับใช้กฎหมายลงโทษอย่างจริงจังให้เป็นตัวอย่าง ทั้งนี้ แนวทางเบื้องต้นของการที่จะต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นคือจะต้องสร้าง ‘ความพอ’ ให้เกิดขึ้นในใจของทุกคน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้แนะนำหลักการใช้ชีวิตสำหรับความต้องการในการจะซื้อของสักชิ้นว่า ให้ถามตัวเองก่อนว่า ‘จำเป็น’ หรือ ‘ต้องการ’ หากจำเป็นและมีเงินพอใช้ค่อยซื้อ พยายามจะกระตุ้นเตือนข้าราชการ พนักงานทุกคนว่า อย่าใช้เงินเปลืองตัว ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างควรพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้ผู้ประกันตนได้ประโยชน์และไว้วางใจ
“ให้ทุกคนดำรงชีวิตอย่างพอเพียงตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะบอร์ดประกันสังคม การจัดซื้อจัดจ้างต้องไม่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของคนอื่นและยึดถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดภาคประชาชนที่ประกันสังคมต้องโปร่งใสแต่ต้องปฏิรูปในส่วนของกองทุนประกันสังคมแยกออกจากส่วนของสำนักงานประกันสังคมที่เป็นหน่วยงานรัฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า การสัมมนาผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม “โครงการ สปส.โปร่งใส ร่วมใจต่อต้านคอร์รัปชั่น” เป็นความริเริ่มของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เพื่อทำให้ ประกันสังคมมีความโปร่งใสต่อต้านการทุจริต ตามนโยบายของรัฐบาล สืบเนื่องจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจนเป็นวาระแห่งชาติในการร่วมกันกำจัดเรื่องของการคอร์รัปชั่นให้หมดไปจากประเทศไทย รวมถึงในโอกาสที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติราชการกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำว่าสาธารณชนมีความสงสัยในการทำงานของสำนักงานประกันสังคม ฉะนั้นในฐานะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมรวมถึงหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องตอบคำถามได้ทุกคำถามถึงจะตอบโจทย์ความโปร่งใสได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงประเด็นกฎหมายประกันสังคมว่า ว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ เข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วานนี้ โดยมีข้อท้วงติงหลายประเด็นที่ฝ่ายกฎหมายต้องพิจารณา เช่น การให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในการแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) การให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ด สปส. โดยตำแหน่ง รวมทั้งจะทำอย่างไรให้องค์กรโปร่งใส ซึ่งในวันพุธ 19 พฤศจิกายน 2557 จะมีการประชุม “25 ปีประกันสังคม พร้อมเปลี่ยนแปลงสู่ทศวรรษหน้า : ปฏิรูปกันอย่างไร?? จึงโดนใจผู้ประกันตน” ที่กระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ในประเด็นที่มีความเหมาะสมก็จะนำเข้าในร่าง พ.ร.บ ประกันสังคมให้มีความครอบคลุม ส่วนตัวมองว่าควรให้ตัวบุคคลใช้ดุลยพินิจให้น้อยที่สุดในการออกกฎหมายหรือข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ส่วนโครงสร้างหลักจะต้องมีการควบคุมการดูแลจะต้องมีการถ่วงดุล ควบคู่กับความโปร่งใส ในเชิงการปฏิบัติก็ต้องดำเนินการเลย เช่น การเปิดเผยข้อมูลการลงทุน การหารือของบอร์ด สปส. รวมถึงเพิ่มการตรวจสอบของภาคประชาชนที่สามารถเดินหน้าได้ทันที ส่วนการแก้กฎหมายให้เป็นไปตามระเบียบ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นที่พึงพอใจของผู้ประกันตนและทุกคนที่เกี่ยวข้อง
นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า การปฏิบัติงานต้องมีมาตรฐานการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จึงกำหนดจัดสัมมนาให้กับบุคลากรของ สปส. จำนวน 500 คน ระหว่างวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน 2557 เพื่อสร้างจริยธรรมในการทำงาน โดยเฉพาะการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน และการจัดซ้อจัดจ้างโครงการต่างๆ
———————————
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
วิชชุลดา บัวชัย – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
17 พฤศจิกายน 2557