‘รัฐมนตรีแรงงาน’ เผย รัฐบาลประกาศ 3 นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจ ย้ำใช้มาตรการพิเศษ ป้องกันผลกระทบต่อเศรษฐกิจและแรงงาน ขยาย 10 พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ กำหนดเขตเศรษฐกิจเฉพาะทาง ย้ำ 6 เดือนพัฒนากำลังคนตอบโจทย์เศรษฐกิจสมัยใหม่ ด้าน ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ ฝาก ก.แรงงาน 3 เรื่อง พัฒนาทักษะฝีมือให้สูง ระงับข้อพิพาทแรงงาน และจัดทำคู่มือปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย ชี้ เพิ่มความสามารถการผลิตให้แรงงานมีทักษะสูง ต้องใช้เวลาสร้างคน แนะแรงงานต้องมีการศึกษาด้วย
Preview
Download Images
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับนายอะกิระ มูราโคชิ (Mr.Akira Murakoshi) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ และคณะเข้าเยี่ยมคารวะ ณ ห้องประชุม Executive Operation Room ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า การทำงานที่ผ่านมา พบว่า ยังไม่เป็นไปตามสิ่งที่ประเทศชาติต้องการ รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษ เพื่อไม่ให้ภาคเศรษฐกิจล่มสลายและส่งผลต่อด้านแรงงานของประเทศไทยในอนาคต ส่วนเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานพยายามเร่งทำอยู่แล้วแต่อาจไม่ทันกับช่วงเวลาจังหวะที่ภาคเศรษฐกิจต้องการ วันนี้มีความก้าวหน้าในบางสาขา เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ อย่างไรก็ตามรัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจใน 3 เรื่องหลัก คือ การเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มีมูลค่าสูง (Modern Industry) การก้าวเข้าสู่ประเทศที่ตั้งของบริษัทแม่ของอุตสาหกรรมต่างๆ (Trading Nation) รวมถึงการก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) นอกจากนี้เรากำลังขยายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน 2 ระยะในปี 2558 คือ จัดตั้งจำนวน 6 พื้นที่ และในปี 2559 จัดตั้งจำนวน 4 พื้นที่ รวมทั้งสิ้น 10 พื้นที่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า ส่วนพื้นที่เขตเศรษฐกิจเฉพาะทาง ซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ได้อยู่ในกติกาของ BOI แต่เป็นสิ่งที่ภาคเศรษฐกิจประเทศไทยต้องการและประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนมีความต้องการเหมือนกัน ซึ่งจะอยู่ตรงไหนจะต้องมีการวางแผนเพื่อที่จะให้ตอบสนองตรงนั้น ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าแรงงานไทยยังติดอยู่กับเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าการที่จะพัฒนาฝีมือแรงงาน
ในเรื่องแรงงานสัมพันธ์ การจัดเวทีพูดคุยกันคือ การพัฒนาเทคนิคในการเจรจาซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ ขณะนี้ได้พยายามที่จะสร้างทัศนคติให้สหภาพแรงงานมุ่งเน้นไปสู่การพัฒนาตนเองในเรื่องการเจรจาต่อรองมากกว่าการเน้นวงจรเดิมที่เป็นการประท้วงนัดหยุดงาน ต้องยอมรับว่าปัญหาผู้นำแรงงานที่เป็นมาเฟียซึ่งเกาะกินสังคมไทยมีมายาวนาน และเรายังขจัดไม่ได้
และเรื่องคู่มือการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายของกระทรวงแรงงานนั้น วันนี้พยายามทำเรื่อง Work permit แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามที่ต้องการ นอกจากนี้รัฐบาลไทยได้มีคู่มือเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อให้ข้าราชการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจะถูกบังคับโดยกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะต้องให้ใบอนุญาตในการให้บริการกับประชาชนหรือผู้มาติดต่อให้ได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือ หากไม่ทำตามจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา นอกจากนี้เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมากฎหมายไทยได้เพิ่มโทษเกี่ยวกับการปราบปราบการทุจริตถึงขั้นประหารชีวิต
” 6 เดือนข้างหน้า ภาพของการพัฒนาคนที่จะนำไปสู่การตอบสนองทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ คงต้องเห็นภาพชัดขึ้นและคนก็จะพัฒนาขึ้น กระทรวงแรงงานพยายามเร่งปรับตัวสอดประสานไปกับอุตสาหกรรมและภาคต่างๆ เพื่อกำหนดความต้องการ (Demand) ที่ตรงกับตลาดแรงงาน ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้าน นายอะกิระ มูราโคชิ (Mr.Akira Murakoshi) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น – กรุงเทพฯ กล่าวว่า รูปแบบการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นนั้นเมื่อมาลงทุนแล้วไม่ได้เพียงแต่มุ่งหวังผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่ทำอย่างไรถึงจะให้แรงงานไทย สังคมไทย เศรษฐกิจไทย และประเทศไทยพัฒนาไปด้วย ซึ่งปัญหาแรงงานนั้นเป็นปัญหาพื้นฐานของด้านสังคมและอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งการที่จะเพิ่มศักยภาพหรือความสามารถในการผลิตให้แรงงานของไทยนั้นมีทักษะสูงขึ้นนั้น หากกำหนดเป็นนโยบายแล้วจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติด้วย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างคน ซึ่งต้องมีการศึกษา การอบรมซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ส่วนปัญหาที่พบของบริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับผู้จัดการโรงงานในสถานประกอบการของตนเอง ดังนั้นการที่ประเทศไทยจะกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศได้ในเชิงรุก จำเป็นที่จะต้องมีแรงงานที่มีศักยภาพ เป็นแรงงานที่ต้องมีการศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับศักยภาพและประสิทธิภาพของการทำงานของแรงงานไทยด้วยเช่นกัน
———————
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
ชนินทร เพ็ชรทับ – ข่าว/
สมภพ ศีลบุตร – ภาพ/
21 กรกฎาคม 2558