รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับต้องสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย (Safety Mind) เข้มงวดสถานประกอบการ/บังคับใช้กฎหมายผู้ที่ไม่ปฏิบัติ สร้างความตระหนักรู้ในผลเสียของอุบัติเหตุจากการทำงาน ด้านประเด็น ‘มาตรา 40’ ให้ สปส. แจงข้อเท็จจริงให้ชัด
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่องนโยบายการขับเคลื่อนความปลอดภัยในการทำงานในงานการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การสมัครเข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 255/8 (Zero Accident Campaign 2015) ให้กับนายจ้างและผู้แทนนายจ้าง จำนวน 200 คน ณ โรงแรม เอส.ดี.อเวนิว ปิ่นเกล้า ว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยืนยันว่าจะเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการต้องสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย และผู้ใช้แรงงานต้องมีจิตมุ่งมั่นด้านความปลอดภัย ต้องได้รับการอบรมเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงเพื่อให้มีองค์ความรู้ว่าความปลอดภัยควรทำอย่างไรในสถานประกอบการในแต่ละระดับ อาทิ ต้องมีอุปกรณ์ ต้องมีระเบียบปฏิบัติประจำในการซักซ้อมเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในผลเสียของอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ต้องเข้าไปดูแลให้เป็นมาตรฐาน รวมถึงให้ กสร. พานายจ้างลูกจ้างไปเยี่ยมชมศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน เพื่อให้เห็นผลที่ตามมาจากการไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ และการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติต้องจริงจัง อย่างไรก็ตาม อยากให้นายจ้าง ลูกจ้างมีจิตสํานึกด้านความปลอดภัย (Safety Mind) เป็นหลักสำคัญ
ทั้งนี้ ในปี 2558 กระทรวงแรงงานจะเน้นให้เป็นปีแห่งการรณรงค์เรื่องสถานประกอบการปลอดภัยเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทางเปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ในการนี้พระองค์ทรง รับสั่งว่าความปลอดภัยในการทำงานควรป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ดีกว่าทำงานแล้วเกิดอุบัติเหตุ เพื่อผู้ใช้แรงงานจะไม่ต้องบาดเจ็บทุพพลภาพ ดังนั้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสที่พระองค์รับสั่งการส่งเสริมความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน จึงให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดทำโครงการเพื่อให้สถานประกอบการทุกแห่งมีความปลอดภัยในการทำงานในปี 2558 โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรับแนวทางดำเนินการ ส่วนการออกกฎกระทรวงเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนเงินทดแทนร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่าย ได้มีการปรับปรุงอัตราค่ารักษาพยาบาลจากเดิมวงเงินสูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท เป็น 1 ล้านบาท และร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและอัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. … ได้มีการปรับปรุงอัตราค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน จากเดิมวงเงินสูงสุดไม่เกิน 4 หมื่นบาท เป็น 358,000 บาท
สำหรับการจัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การสมัครเข้าร่วมกิจกรรมการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ ประจำปี 255/8 (Zero Accident Campaign 2015) มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบกิจการมีการพัฒนาระบบการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เกิดความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
ในโอกาสเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ประเด็น ‘ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 กรณีสิทธิประโยชน์ชราภาพ ทยอยลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน เพื่อต้องการเงินสมทบจากรัฐบาล และทาง สปส. มีการให้ข่าวออกมาว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ให้หน่วยงานของตนทั่วประเทศจ่ายเงินเฉพาะส่วนที่ผู้ประกันตนสมทบเดือนละ 100 บาทเท่านั้น ส่วนที่รัฐจ่ายสมทบเดือนละ 100 บาทนั้นยังไม่มีการจ่าย เนื่องจากรอการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าหากมีการลาออกเพื่อขอรับเงินสมทบในเวลารวดเร็วจะเป็นการผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ และการจ่ายเงินสมทบในส่วนของรัฐจะต้องออกกฎหมายลูกเพื่อจัดทำเงื่อนไขรองรับหรือไม่’ ว่า “สำนักงานประกันสังคม ต้องชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจถูกต้องว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งคิดในเชิงบวกแล้วเราก็อยากให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนมากที่สุด”
ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมก็ทำตามหน้าที่ตามนโยบายของรัฐบาลก่อนหน้านั้น รัฐบาลนี้จะได้มาแก้ไขและปฏิรูปทุกอย่างให้ลงตัวอย่างถูกต้อง โดยสำนักงานประกันสังคมก็จะต้องตอบข้อสงสัยของประชาชนให้ชัดเจน อะไรที่เป็นความผิดพลาดก็ต้องยอมรับยอมที่จะเจ็บครั้งเดียวเพื่อให้สังคมเข้าใจและคลายความสงสัยในปัญหานั้นๆ
———————————
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/