ในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ ๑๕ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ เป็นผู้อภิปรายในหัวข้อ “การจัดการกับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติโดยเน้นนโยบายการมีงานทำ (Natural Disaster Response with the Central focus on Employment Policy) ซึ่งเป็นการประชุมวาระพิเศษที่กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น จัดขึ้น |
Mr. Juan Somavia ผู้อำนวยการใหญ่ ILO กล่าวเปิดการประชุม ส่วนผู้อภิปรายเป็นผู้แทนระดับสูงของฝ่ายรัฐบาล คือ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประเทศไทย พลจัตวา Sajid Naeem, National Disaster Management Authority Prime Minister’s Secretariat, ประเทศปากีสถาน ฝ่ายนายจ้าง คือ Mr. Phil Oreilly, Chief Executive, business ประเทศนิวซีแลนด์ และฝ่ายลูกจ้าง คือ Mr. Hiroyuki NAGUMO, General Secretary, JTUC-RENGO ประเทศญี่ปุ่น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๒๐๐ คน ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานใช้ภาษาอังกฤษตลอดการประชุมทั้งช่วงการนำเสนอและการตอบข้อซักถาม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำเสนอว่า การเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทยทำความเสียหายต่อนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคการผลิตและการจ้างงาน โดยมีสถานประกอบการมากกว่าสองหมื่นแห่งต้องหยุดกิจการชั่วคราว ส่งผลให้ลูกจ้างของสถานประกอบกิจการนั้นๆ ประสบกับภาวะว่างงานชั่วคราว รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ “มาตรการ 3 R เพื่อฟื้นฟูประเทศ ประกอบด้วย Rescue, Restore, and Rebuild ซึ่งแบ่งระยะเวลาการดำเนินงานเป็น ๓ ระยะ ได้แก่
๑. R แรก คือ Rescue การช่วยเหลือ สำหรับช่วงระยะเร่งด่วน การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ประสบภัย เช่น การขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการอนุญาตให้ลูกจ้างมาทำงานสาย หยุดงาน โดยไม่ถือเป็นวันลา รวมทั้งการจัดรถรับส่งและจัดที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้ลูกจ้าง การประสานโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมเพื่อให้แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินไปก่อน
๒. R ที่สอง คือ Restore การฟื้นฟู สำหรับช่วงระยะสั้น ภายใน ๑ ปี โดยเป็นการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูให้ระบบต่างๆ สามารถกลับมาทำงานได้โดยเร็ว รวมไปถึงการเยียวยา ให้เงินช่วยเหลือ เงินกู้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้จัดทำโครงการต่างๆ อาทิ โครงการจ้างงานเร่งด่วน โครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับเข้าสู่สถานประกอบกิจการ
๓. R สุดท้าย คือ Rebuild การเสริมสร้าง สำหรับช่วงระยะยาว รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ๒ คณะ ได้แก่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่อศักยภาพของประเทศไทยในระบบบริหารจัดการน้ำและศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับแรงงานต่างด้าวนั้น รัฐบาลไทยได้ให้การคุ้มครองดูแลเช่นเดียวกันกับแรงงานไทย ในเบื้องต้นกระทรวงแรงงานได้จัดศูนย์พักพิงให้ สำหรับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศไปในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤต หากประสงค์จะกลับมาทำงานในประเทศไทยอีก รัฐบาลไทยจะดำเนินการร่วมมือกับประเทศต้นทางให้กลับมาทำงานกับนายจ้างคนเดิม
ก้าวต่อไปของประเทศไทย รัฐบาลทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนจากต่างประเทศและประชาคมระหว่างประเทศ โดยร่วมกับภาคประชาสังคมที่จะช่วยกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเสริมสร้าง ความมั่นใจ ความเชื่อถือ และความก้าวหน้าของประเทศต่อไป และขอขอบคุณมิตรประเทศทั่วโลกที่เป็นกำลังใจและให้ความช่วยเหลือกับประเทศไทยอย่างเต็มที่ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งขอบคุณ ILO สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก องค์การนายจ้างและลูกจ้างในประเทศ ซึ่งกำลังใจและการสนับสนุนเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นภาวะยากลำบากนี้ไปได้ ในตอนท้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ย้ำโดยให้ความมั่นใจว่าสถานการณ์ในประเทศกำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ กำลังฟื้นตัวสู่สภาพปกติในเร็ววัน และขอให้เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลไทยด้วย
ช่วงท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ตอบข้อซักถามว่า กระทรวงแรงงานได้จัดฝึกอาชีพแก่แรงงานที่รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างเต็มที่และสอดคล้องกับความต้องการ และเกี่ยวกับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ได้ขอบคุณหลายประเทศที่แสดงความห่วงใยและให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ทั้งสถานทูตญี่ปุ่นและบริษัทญี่ปุ่นที่ช่วยรับแรงงานไทยเข้ามาทำงานในบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นชั่วคราวด้วย