รมว.แรงงาน เผย มติ ครม.เห็นชอบ ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน ในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ธ.ค.61 – ก.พ.62 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ คิดเป็นวงเงินประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ กระทรวงแรงงานได้เสนอร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน ในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติ พ.ศ. …. เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าว ซึ่งจะทำให้นายจ้างและผู้ประกันตนที่อยู่ในท้องที่ที่ที่เกิดวาตภัยและอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก” “(PABUK)” จำนวน 23 จังหวัด ได้แก่ 1) กระบี่ 2) จันทบุรี 3) ชุมพร 4) ชลบุรี 5) ตรัง 6) ตราด 7) นครศรีธรรมราช 8) นราธิวาส 9) ประจวบคีรีขันธ์ 10) ปัตตานี 11) พังงาน 12) พัทลุง 13) เพชรบุรี 14) ภูเก็ต 15) ยะลา 16) ระนอง 17) ระยอง 18) สงขลา 19) สตูล 20) สมุทรปราการ 21) สมุทรสงคราม 22) สมุทรสาคร และ 23) สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นนายจ้างในสถานประกอบการจำนวน 129,981 แห่ง มีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 3,517,817 คน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 411,358 คน รวมทั้งสิ้น 3,929,175 คน
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงแรงงานฉบับนี้จะขยายเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง สำหรับค่าจ้างงวดเดือน ธ.ค. 61 – ก.พ. 62 โดยยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 เม.ย.62 และขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สำหรับเงินสมทบที่ต้องนำส่งประจำงวดเดือนเดือน ธ.ค. 61 – ก.พ. 62 โดยให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 เม.ย.62 ทั้งนี้ การขยายเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างตามมาตรา 47 และขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนของผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 นายจ้างและผู้ประกันตนไม่ต้องชำระเงินเพิ่มตามกฎหมายภายในกำหนดระยะเวลาที่ขยายออกไป สำหรับการยืดเวลาการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างเป็นเวลา 3 เดือนนั้น คิดเป็นวงเงินเดือนละประมาณ 6,000 ล้านบาท รวม 3 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 18,000 ล้านบาท
แต่หากพ้นกำหนดเวลาที่ขยายออกไปตามมาตรการแล้ว นายจ้างและผู้ประกันตนไม่ส่งเงินสมทบ จะถือว่านายจ้างและผู้ประกันตนไม่นำส่งเงินสมทบภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยนายจ้าง ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งนับแต่วันวันถัดจากวันที่มีหน้าต้องนำส่งเงินสมทบ และสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินสมทบที่ยังมิได้นำส่งนับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ
“กระทรวงแรงงานขอยืนยันว่าการขยายกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะไม่ได้รับผลกระทบต่อการใช้สิทธิรับผลประโยชน์ทดแทน เนื่องจากมาตรา 47 ให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะไม่มีผลต่อสถานภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ดังนั้นขอให้ผู้ประกันตน มั่นใจได้ว่าจะสามารถใช้สิทธิรับผลประโยชน์ทดแทนได้ตามปกติ” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวในท้ายสุด
—————————————
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์/
ณัฏฐภัทร์ ชื่นเอี่ยม – ข่าว/
18 กุมภาพันธ์ 2562