รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ”กำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ระดมเจ้าหน้าที่ดำเนินการช่วยเหลือสถานประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามภารกิจให้ได้ทันสถานการณ์ตามแผนงาน 3 ระยะ ทั้งก่อน ระหว่างเกิดภัย และเร่งฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายหลังน้ำลด
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โพดุล” และ “คาจิกิ” ซึ่งทำให้หลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว สำหรับแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กระทรวงแรงงานได้เตรียมแผนการช่วยเหลือฟื้นฟูประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง นายจ้าง และประชาชนทั่วไปไว้แล้ว ทั้งระยะก่อนเกิดภัย ได้จัดเตรียมแรงงานที่มีความรู้ทางเทคนิคเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระยะเกิดภัย ตรวจสอบข้อมูลแรงงานที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้การช่วยเหลือคุ้มครองและเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย และระยะฟื้นฟู ได้เตรียมการฝึกอาชีพและจัดหางานให้ผู้ประสบภัย
ม.ร.ว.จัตุมงคลฯ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์อุทกภัยดังกล่าว มีสถานประกอบกิจการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั่วประเทศ จำนวน 12 จังหวัด โดยสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ จำนวนทั้งสิ้น 113 แห่ง จากทั้งหมด 35,058 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ จำนวน 13,781 คน จากทั้งหมด 389,155 คน ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแล้วในระหว่างเกิดอุทกภัย โดยเปิดพื้นที่อาคารภายในสถาบัน/สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบอุทกภัย มอบถุงยังชีพ และสนับสนุนโรงครัวพระราชทานร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่
สำหรับมาตรการหลังจากนี้ จะเป็นในส่วนของระยะฟื้นฟูภายหลังน้ำลด โดยจะดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชน ลูกจ้าง และสถานประกอบการใน 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1) การออกประกาศขอความร่วมมือจากสถานประกอบการให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลาหรือเป็นความผิดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน 2) โครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือ โดยสนับสนุนค่าตอบแทน รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ฝึกอาชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพและฟื้นฟูสาธารณะสถาน ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้อย่างต่อเนื่อง สามารถดำรงชีพได้หลังจากน้ำลดและรอการฟื้นฟู และ 3) จัดหน่วยให้บริการซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร เพื่อลดรายจ่ายของประชาชนที่อุปกรณ์ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย รวมถึงตรวจสอบความปลอดภัยของสายไฟภายในบ้าน
สถานประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุ “โพดุล” และ
“คาจิกิ” สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
————————————
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ – ข่าว/
24 กันยายน 2562