‘รัฐมนตรีแรงงาน’ เผย ก.แรงงานคุ้มครองแรงงานทั้งลูกจ้างและนายจ้างให้ได้รับความเป็นธรรม ย้ำ แรงงานสัมพันธ์ต้องใช้ความรู้และเทคนิคในการพูดคุย เชื่อ บริษัทญี่ปุ่นในไทยมีมาตรฐานสูงมีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี เร่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้ทันเทคโนโลยีในอนาคต ด้าน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ เผย ไทยมีจุดแข็งในอาเซียน ความร่วมมือหลายด้านนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรร่วมกัน
Preview
Download Images
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ H.E. Mr.Shiro SADOSHIMA เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาประธานหอการค้าญี่ปุ่นได้เข้าพบ โดยได้มีข้อมูลว่าปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยมากกว่า 1,600 บริษัท มีลูกจ้างคนงานประมาณ 8 แสนคน ซึ่งเรื่องสำคัญที่ได้พูดคุยกันคือ เรื่องของแรงงาน และความเข้าใจกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยทางการหอการค้าญี่ปุ่นได้แนะนำว่าคงต้องเปลี่ยนทัศนคติของแรงงานไทยในการที่จะยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างให้ใช้กลยุทธ์ในการเจรจามากกว่าการประท้วงเป็นเครื่องมือในการเจรจา เห็นว่าสัมพันธภาพและความเข้าใจกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในประเทศไทย โดยภาพรวม 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยส่วนที่ยังเป็นปัญหามีจำนวนไม่มาก และมักอยู่ในเมืองที่มีอุตสาหกรรมจำนวนมาก เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปราจีนบุรี เป็นต้น ซึ่งกระทรวงแรงงานพยายามเข้าไปแก้ไขโดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ด้วยความเป็นราชการในการบริหารจัดการปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ทำให้ต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมป้องกันการถูกละเมิดจากนายจ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองดูแลนายจ้างไม่ให้ถูกละเมิดหรือถูกคุกคามจากสหภาพแรงงานหรือกลุ่มลูกจ้างที่มีอิทธิพล ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่กระทรวงแรงงานกำลังทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเรื่องแรงงานสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ต้องใช้วิชาความรู้ใช้เทคนิคในการมาพูดคุยกันจึงต้องอาศัยคำแนะนำในสิ่งที่ญี่ปุ่นได้ทำไปและประสบความสำเร็จไปก่อนแล้วเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานของไทยด้วย ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการแรงงานสัมพันธ์ของบริษัทญี่ปุ่นโดยรวมจะมีมาตรฐานสูง เพราะว่าบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยหลายแห่งมีมาตรฐานด้านแรงงานสัมพันธ์สูง และกระทรวงแรงงานของไทยได้มอบรางวัลเป็นประจำทุกปี ส่วนปัญหาที่สำคัญอีกประการคือ การพัฒนาแรงงานให้มีฝีมือสูงขึ้นยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยได้ให้แนวทางว่า การพัฒนาฝีมือแรงงาน ถ้าจะให้สำเร็จได้เร็วสถานประกอบการน่าจะเป็นผู้ที่พัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเรื่องนี้กำลังพูดคุยอยู่กับสถานประกอบการ
” กระทรวงแรงงานพยายามจะพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐาน เพื่อจะพัฒนาให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เพื่อจะรองรับการลงทุนของประเทศต่างๆ ที่เข้ามาในประเทศไทย ให้คนงานไทยเราสามารถเข้าไปทำงานได้”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้าน H.E. Mr.Shiro SADOSHIMA เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในประเทศไทยโดยทั่วไปแล้วไม่มีปัญหา อย่างไรก็แล้วแต่ไม่มีประเทศใดที่ไม่มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่สำหรับประเทศไทยแล้วบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นไปด้วยดีเสมอมา นิสัยคนไทยเหมือนกับคนญี่ปุ่น ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่จึงไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้ เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยในประเทศอาเซียน ประเทศไทยมีจุดแข็ง มีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากที่มาลงทุนในประเทศไทย มีมหาวิทยาลัยที่มีความร่วมมือกันหลายสาขา ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ดีในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรร่วมกันอย่างต่อเนื่อง